บรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการติดเงา (shadow banning) ผู้ใช้งานสำหรับคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับปาเลสไตน์ ท่ามกลางความขัดแย้งในฉนวนกาซา โดยระบุว่า การกล่าวหาว่าบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ปิดกั้นเสียงใดเสียงหนึ่งอย่างเป็นระบบโดยจงใจนั้น ไม่มีมูลความจริง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียถูกกล่าวหาว่าบล็อกคอนเทนต์หรือผู้ใช้งานบางส่วนจากชุมชนออนไลน์ นับตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.
สมเด็จพระราชินีราเนีย อัล อับดุลลาห์แห่งจอร์แดนออกโรงวิพากษ์วิจารณ์แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียว่าปิดกั้นคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับชาวปาเลสไตน์ในสงครามครั้งนี้
"แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพิสูจน์ว่าคุณถูกติดเงาหรือถูกเซนเซอร์ แต่ก็ยากสำหรับผู้ใช้งานที่จะไว้วางใจแพลตฟอร์มที่ควบคุมคอนเทนต์จากเงามืดด้วยมาตรฐานที่คลุมเครือ" สมเด็จพระราชินีราเนียกล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอด เว็บ ซัมมิต ในกรุงโดฮา
ทั้งนี้ รายงานองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) หรือ HRW ระบุว่า สื่อโซเชียลมีเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ "เครื่องมืออัตโนมัติสำหรับการลบคอนเทนต์เพื่อกลั่นกรองหรือแปลคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับปาเลสไตน์มากเกินไป"
บริษัทโซเชียลมีเดียนั้น "มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้" ฮุสเซน ไฟรเยห์ รองประธานประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของสแนปแชท (Snapchat) กล่าวให้สัมภาษณ์กับแดน เมอร์ฟีย์ จากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีที่การประชุมเว็บ ซัมมิต เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
"เรามีอัลกอริทึมทั้งหมดเพื่อกลั่นกรองเนื้อหา" นายไฟรเยห์กล่าวเสริม พร้อมระบุว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวยังใช้มนุษย์เพื่อกลั่นกรองคอนเทนต์เพื่อทำให้แน่ใจว่าปลอดภัยสำหรับชุมชน
ในขณะที่สงครามข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นทางออนไลน์ระหว่างเรื่องราวฝั่งที่สนับสนุนปาเลสไตน์กับฝั่งที่สนับสนุนอิสราเอล แพลตฟอร์มเช่น สแนปแชท, อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการค้นหาคอนเทนต์หรือข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้
ทั้งนี้ นักข่าวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานข่าวจากฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม ซึ่งเป็นการปิดกั้นการรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ บรรดานักข่าวได้เรียกร้องให้อิสราเอลทบทวนเรื่องการอนุญาตเข้าพื้นที่ โดยระบุว่า การรายงานข่าวจากพื้นที่จริงนั้น "มีความจำเป็นอย่างยิ่ง"