การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในช่วงสุดสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึงนี้นั้นเป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน จะคว้าชัยชนะและครองอำนาจต่อไปเป็นสมัยที่ 5 ซึ่งหมายความว่า นายปูตินจะดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียไปจนถึงปี 2573 เป็นอย่างน้อย
กระบวนการเลือกตั้งซึ่งมีการควบคุมและจัดการอย่างเข้มงวดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-17 มี.ค. ซึ่งทำเนียบเครมลินไม่ได้คาดการณ์ว่า จะมีผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น โดยเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ทำเนียบเครมลินเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ทางทำเนียบมั่นใจว่า นายปูตินจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดายไร้อุปสรรค
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในปี 2567 นั้น มีผู้ลงสมัคร 4 คน ได้แก่นายปูติน และอีก 3 คนซึ่งเป็นคู่แข่งที่ถูกควบคุมในระบบการเมืองของรัสเซียได้แก่ นายวลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ จากพรรคประชาชนใหม่, นายลีโอนิด สลุตสกี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย และนายนิโคไล คาริโตนอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์
นักวิเคราะห์ระบุว่า ทำเนียบเครมลินตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนจำนวนมากออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่มีการขยายเวลาในการลงคะแนนเสียงออกไปเป็น 3 วัน ซึ่งทำเนียบเครมลินคาดหวังว่าชัยชนะจะตกอยู่ในมือของนายปูติน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม
นายอันเดรียส ตูร์ซา ที่ปรึกษาด้านยุโรปกลางและตะวันออกของบริษัทที่ปรึกษาทีนีโอ (Teneo) กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) ว่า "ทำเนียบเครมลินมุ่งหวังผลการเลือกตั้งที่จะแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนนายปูตินอย่างล้นหลามจากสาธารณชน ด้วยการเพิ่มวาระนโยบายในประเทศและต่างประเทศ"
"ทำเนียบเครมลินกำลังใช้ประโยชน์จากการแข่งขันในการเลือกตั้งเพื่อยืนยันความชอบธรรมของนายปูติน การระดมเสียงสนับสนุนนโยบายของเขาจากสาธารณะ และแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความเด็ดเดี่ยวต่อศัตรูภายนอก" นายตูร์ซากล่าวเสริม โดยชี้ว่าเครมลินกำลังต้องการชัยชนะแบบถล่มทลาย
นายตูร์ซากล่าวว่า จากข้อมูลของทางการนั้น นายปูตินได้รับคะแนนเสียง 77.5% ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2561 โดยมีประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงถึง 67.5% ซึ่งในปีนี้ จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์และคะแนนที่นายปูตินจะได้รับอาจสูงกว่านี้
"นายปูตินแทบไม่มีคู่แข่งที่แท้จริงให้กังวลในการเลือกตั้ง และหากจำเป็น เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งก็มีวิธีการต่าง ๆ มากมายที่จะใช้ออกแบบและสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายคือการบรรลุผลสำเร็จโดยมีการแทรกแซงน้อยที่สุด" นายตูร์ซากล่าว