รัฐบาลจีนกล่าวในวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า สหรัฐและญี่ปุ่นได้ "ใส่ร้ายและกล่าวโจมตี" จีนในระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงวอชิงตัน ที่ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ได้ยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ปธน.ไบเดนและนายกฯคิชิดะเปิดเผยแผนการปรับโครงสร้างการบัญชาการทหารสหรัฐในญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กองกำลังสหรัฐและญี่ปุ่นมีความคล่องตัวมากขึ้นในกรณีที่เกิดภัยคุกคาม เช่น จีนบุกไต้หวัน
ปธน.ไบเดนยืนกรานว่าการยกระดับทางทหารในพื้นที่ใกล้เคียงจีนนั้น "เพื่อการป้องกันตัวล้วน ๆ" อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดนก็ไม่ได้ซ่อนเร้นความมุ่งมั่นที่จะสานสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน
ทั้งนี้ นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ตอบคำถามเกี่ยวกับการเยือนสหรัฐของนายกฯคิชิดะและการยกระดับความสัมพันธ์ของสหรัฐ-ญี่ปุ่น โดยกล่าวว่าทั้งสองชาตินี้ "ใส่ร้ายและกล่าวโจมตีจีนในเรื่องไต้หวันและประเด็นทางทะเล แทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างหนัก และละเมิดบรรทัดฐานขั้นพื้นฐานที่ใช้กำกับดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง"
นางเหมากล่าวว่า จีน "ไม่พอใจอย่างยิ่งและคัดค้านอย่างแข็งขันต่อเรื่องนี้ และได้ยื่นข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"
"ความสัมพันธ์สหรัฐ-ญี่ปุ่นไม่ควรกำหนดเป้าหมายหรือทำลายผลประโยชน์ของประเทศอื่น และไม่ควรบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค" นางเหมากล่าว
ในกรุงวอชิงตัน นายกฯคิชิดะยกย่องพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและประชาธิปไตยในภูมิภาค ท่ามกลางท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนผู้เรียกร้องให้มี "สันติภาพและเสถียรภาพ" ในช่องแคบไต้หวัน
นางเหมายืนกรานว่า "ปัญหาไต้หวันเป็นกิจการภายในของจีนล้วน ๆ" พร้อมกล่าวเสริมว่า "เราจะไม่ยอมให้มีการแทรกแซงจากกองกำลังภายนอกใด ๆ ทั้งสิ้น"
ภายในวันนี้ ปธน.ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีครั้งแรกระหว่างญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลฟิลิปปินส์ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้ร่วมกันซ้อมรบทางเรือและทางอากาศกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อต่อต้านท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีน
เพื่อเป็นการตอบโต้ จีนก็ได้ดำเนินการ "ลาดตระเวนรบ" ของตนเองเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 เม.ย.) ด้วยเช่นกัน
นางเหมากล่าวว่า กิจกรรมของจีนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ "เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ ไม่มีที่ติ"
"จีนมีอำนาจอธิปไตยอย่างไม่มีข้อโต้แย้งเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และน่านน้ำโดยรอบ" นางเหมากล่าว
"จีนจะยังคงจัดการกับปัญหาทางทะเลกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ และร่วมกันปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้"