คณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลมีกำหนดจะประชุมเป็นครั้งที่สามในรอบสามวันในวันนี้ (16 เม.ย.) เพื่อตัดสินใจตอบโต้การโจมตีโดยตรงครั้งแรกของอิหร่าน ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้หลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้งในตะวันออกกลางเพิ่มเติม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สถานการณ์ทวีความร้อนแรงมากขึ้น เมื่อพลโทเฮอร์ซี ฮาเลวี เสนาธิการกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) ยืนยันว่า อิสราเอลจะทำการตอบโต้อิหร่านอย่างแน่นอน หลังจากอิหร่านใช้โดรนและขีปนาวุธหลายร้อยตัวโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 เม.ย.)
แม้ว่าการโจมตีดังกล่าวจะไม่มีผู้เสียชีวิตและสร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อย เนื่องจากระบบป้องกันทางอากาศไอออนโดม (Iron Dome) และมาตรการตอบโต้ของอิสราเอลและชาติพันธมิตร แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าความขัดแย้งที่เคยจำกัดอยู่ในกาซาจะขยายวงกว้างออกไป และอาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูกันมานาน
อิหร่านได้เปิดฉากตอบโต้ต่อการที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มสถานทูตในกรุงดามัสกัสเมื่อวันที่ 1 เม.ย. อย่างไรก็ดี อิหร่านส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการให้ความขัดแย้งยกระดับต่อไป
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ในระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐไม่เห็นด้วยหากอิสราเอลคิดตอบโต้อิหร่าน
สหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปพยายามกดดันอิหร่านผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองที่หนักขึ้นในวันนี้ เพื่อให้อิสราเอลเลือกที่จะไม่ตอบโต้การโจมตีของอิหร่านด้วยการใช้กำลังทหาร
อนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) มีกำหนดการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
ในอีกด้านหนึ่ง นายอาลี บาเกรี คานี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของรัฐเมื่อคืนวันจันทร์ (15 เม.ย.) ว่า ถ้าอิสราเอลตัดสินใจโจมตีอิหร่าน อิหร่านจะตอบโต้กลับ "ภายในไม่กี่วินาที เนื่องจากอิหร่านจะไม่รอถึง 12 วันเพื่อตอบโต้"
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนมองว่า รัฐบาลไบเดนไม่น่าจะเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน เนื่องจากกังวลว่าอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและอาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน