สหรัฐใช้สิทธิ์วีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) เพื่อปฏิเสธไม่ให้ปาเลสไตน์ได้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบขององค์การสหประชาชาติ (UN) ส่งผลให้ UN ไม่สามารถรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐได้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สหรัฐยับยั้งร่างมติที่เสนอแนะต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่ระบุให้ "รับรัฐปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิก" ของ UN ด้านอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์งดออกเสียง ขณะที่สมาชิก UNSC อีก 12 ประเทศลงมติเห็นชอบ
"สหรัฐยังคงสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาแบบสองรัฐอย่างแข็งขัน การลงมติครั้งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงการต่อต้านการเป็นรัฐของปาเลสไตน์ แต่เป็นการยอมรับว่ามันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาโดยตรงระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เท่านั้น" นายโรเบิร์ต วูด รองเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำ UN กล่าวต่อ UNSC
ด้านประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ประณามการใช้สิทธิ์วีโต้ของสหรัฐในแถลงการณ์ว่า "ไร้ความเป็นธรรม ไร้จริยธรรม และไร้เหตุผล"
นายริยาด มานซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำ UN กล่าวอย่างมีอารมณ์กับ UNSC หลังการลงมติว่า "การที่ร่างมติฉบับนี้ไม่ผ่านการรับรองจะไม่ทำให้เจตจำนงของเราแตกสลาย และจะไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่นของเราได้ เราจะไม่หยุดยั้งความพยายามของเรา"
ความพยายามของปาเลสไตน์ในการขอเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ UN เกิดขึ้นหลังจากที่มีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว และเกิดขึ้นในขณะที่อิสราเอลกำลังขยายการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่ง UN ถือว่าผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี นายอิสราเอล แคทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ชื่นชมสหรัฐที่ใช้สิทธิ์วีโต้
ด้านนายกิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำ UN กล่าวกับสมาชิก UNSC 12 ประเทศที่ลงมติเห็นชอบกับร่างมติว่า "มันน่าเศร้ามาก เพราะการลงมติของพวกคุณจะยิ่งทำให้ปาเลสไตน์บางกลุ่มที่ปฏิเสธข้อเสนอสันติภาพ (Palestinian rejectionism) ได้ใจมากขึ้นไปอีก และทำให้สันติภาพแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย"