ว่าที่ปธน.ไต้หวันนำทีมผู้นำชาติพันธมิตรไปตกกุ้ง โชว์ความเหนียวแน่นก่อนสาบานตนพรุ่งนี้

ข่าวต่างประเทศ Sunday May 19, 2024 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไล่ ชิงเต๋อ ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ได้พาบรรดาผู้นำจากประเทศพันธมิตรทางการทูตไปตกกุ้งในวันนี้ (19 พ.ค.) ซึ่งเป็นกิจกรรมสันทนาการยอดนิยมในไต้หวัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่นายไล่ วัย 64 ปี จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในวันจันทร์นี้ (20 พ.ค.) ซึ่งคาดว่านายไล่จะกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาสถานะเดิมในความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีนเอาไว้

"เราจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชาติและรักษาสถานะเดิมในช่องแคบไต้หวัน" นายไล่กล่าวที่บ่อตกกุ้งในเชิงเขาไทเป

"และไต้หวันไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว เราได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ในต่างประเทศอย่างพวกคุณทุกคนที่ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน" นายไล่กล่าวเสริมเป็นภาษาอังกฤษ

ในงานตกกุ้งครั้งนี้ นายไล่นั่งข้าง ๆ สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตินี ผู้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์สุดท้ายในโลกนี้ของแอฟริกา ซึ่งประเทศของพระองค์ถูกสั่นคลอนด้วยการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงในปี 2564

นอกจากนี้ ในงานยังมีแขกคนสำคัญอีกรายคือนายซานเตียโก เปญญา ประธานาธิบดีปารากวัย ซึ่งนายไล่ได้แสดงความสนิทสนมด้วยการกอดเมื่อนายเปญญาเดินทางมาถึง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่นายไล่ชนะการเลือกตั้งในเดือนม.ค. ไต้หวันต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากจีน รวมถึงกิจกรรมแสดงแสนยานุภาพทางอากาศและทางทะเลของกองทัพจีนใกล้กับเกาะไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ

จีนมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเอง แม้รัฐบาลไต้หวันจะคัดค้านมุมมองดังกล่าวอย่างรุนแรงก็ตาม นอกจากนี้ จีนยังไม่เคยประกาศละทิ้งการใช้กำลังเพื่อนำเกาะไต้หวันมาอยู่ภายใต้การควบคุมของตนอีกด้วย

ปัจจุบันมีเพียง 12 ประเทศเท่านั้นที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนกว่าไต้หวัน เช่น ปารากวัย, เอสวาตินี, ปาเลา และเซนต์ลูเซีย โดยจีนพยายามกดดันประเทศพันธมิตรของไต้หวันให้เปลี่ยนไปรับรองจีนแทน เช่น นาอูรูที่ประกาศตัดสัมพันธ์กับไต้หวันแล้วเปลี่ยนมาสานสัมพันธ์กับจีนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. หลังนายไล่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันได้เพียง 2 วัน

แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดกับจีน แต่ในวันสาบานตนรับตำแหน่งของนายไล่ ก็จะมีอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนส่งมา และฝ่ายนิติบัญญัติจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, เยอรมนี และแคนาดา เข้าร่วมด้วย

นอกจากความท้าทายจากต่างประเทศแล้ว ความท้าทายภายในไต้หวันของนายไล่ก็ใหญ่หลวงเช่นกัน เนื่องจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของนายไล่สูญเสียเสียงข้างมากในสภาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เมื่อวันศุกร์ (17 พ.ค.) สมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวันโต้เถียงกันอย่างดุเดือดถึงขั้นกรีดร้องและต่อยกันในประเด็นการปฏิรูปรัฐสภาที่ฝ่ายค้านผลักดัน และคาดว่าอาจมีการต่อสู้กันเพิ่มเติมในวันอังคารนี้ (21 พ.ค.) เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกลับมาหารือกันอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ