การหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแบบสายฟ้าแลบในฝรั่งเศสเริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) โดยผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่าพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Rally) หรือที่เรียกว่า RN มีแนวโน้มที่จะชนะเหนือกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้าย ขณะที่กลุ่มสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ตามหลังมาเป็นอันดับสาม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้เกิดการเทขายพันธบัตรและหุ้นของฝรั่งเศสอย่างหนัก นับตั้งแต่ปธน.มาครงประกาศให้มีการเลือกตั้งแบบผิดคาดหลังจากที่พรรค RN ของนางมารีน เลอ แปน เอาชนะพรรคสายกลางของปธน.มาครงได้ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป
ด้านผลสำรวจล่าสุดโดย Ifop for LCI ชี้ว่า การเดิมพันของปธน.มาครงที่หวังให้พรรคอื่น ๆ ตั้งตัวไม่ทันด้วยการให้เวลาเตรียมตัวเลือกตั้งเพียงไม่กี่สัปดาห์นั้น อาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวปธน.มาครงเสียเอง
ผลสำรวจชี้ว่า พรรค RN ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านสหภาพยุโรป (EU) และต่อต้านผู้อพยพ จะได้รับคะแนนเสียง 33% ในการเลือกตั้งรอบแรกในวันที่ 30 มิ.ย. ลดลง 2% จากผลสำรวจครั้งก่อนของ Ifop แต่เมื่อรวมกับสัดส่วนของกลุ่มพรรคสาธารณรัฐสายอนุรักษนิยมที่ยินดีจะจับมือกับพรรค RN ด้วยแล้วนั้น ทำให้คะแนนเสียงรวมขึ้นมาอยู่ที่ 37%
ทางด้านคะแนนเสียงของกลุ่มพันธมิตรพรรคฝ่ายซ้ายปัจจุบันอยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นจากเดิม 2% ขณะที่กลุ่มของปธน.มาครงตามมาเป็นอันดับสามที่ 18% ลดลง 1%
อนึ่ง การเลือกตั้งรอบที่สองจะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.ค.นี้
"เรากำลังก้าวเข้าสู่จุดที่ไม่เคยมีมาก่อน และในความคิดของผม เรากำลังจะมีสภาที่บริหารจัดการอะไรไม่ได้" นายแม็กซิม เชตริต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัย 60 ปี กล่าว
ด้านมารี บัลตา หญิงวัยเกษียณจากเมืองนีม ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เห็นด้วยกับข้อกังวลนี้ แต่กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้รัฐสภามีอำนาจเหนือประธานาธิบดีและรัฐบาล
"มันจะเป็นเรื่องยากมากที่จะมีสภา 3 เส้า โดยมี 2 กลุ่มใหญ่และอีก 1 กลุ่มกลางที่เล็กกว่ามาก แต่บางทีมันอาจเป็นโอกาสที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นก็เป็นได้" บัลตากล่าว
การหาเสียงอย่างเป็นทางการเริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ หลังจากที่แต่ละพรรคต่างเร่งหาตัวผู้สมัครและจับมือเป็นพันธมิตรกันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ฝ่ายพันธมิตรของปธน.มาครงย้ำว่า ชัยชนะของ RN หรือฝ่ายซ้ายอาจสร้างวิกฤตการณ์ทางการเงิน สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีกาเบรียล แอตทาล กล่าวกับสถานีวิทยุ RTL ว่า ชัยชนะของทั้งสองฝ่ายนี้จะเป็นหายนะสำหรับฝรั่งเศส เศรษฐกิจ และการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม เคลม็องตีน โอแต็ง สส.คนสำคัญของพรรคฝ่ายซ้ายจัด "ลาฟร็องแซ็งซูมีซ" (France Insoumise) กล่าวว่า ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วจากรัฐบาลมาครง
"พวกเขาทิ้งหนี้สินไว้เป็นกองพะเนินโดยไม่ได้ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฝรั่งเศสเลย เป็นเรื่องน่ารังเกียจมากที่พวกเขามาเทศนาสั่งสอนเรา" โอแต็งกล่าวในการประชุมของฝ่ายซ้าย ณ ชานกรุงปารีส
ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสอยู่ที่ 5.5% ของ GDP ในปี 2566 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ในยูโรโซน
แม้กระทั่งนายคีเลียน เอ็มบัปเป้ กัปตันทีมฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส ก็ยังออกมาเรียกร้องให้คนหนุ่มสาว "สร้างความแตกต่าง" ในช่วงเวลาที่ "กลุ่มสุดโต่ง" ใกล้จะได้ครองอำนาจ ซึ่งนักการเมืองฝ่ายขวาจัดบางคนค่อนขอดนักเตะชาวฝรั่งเศสผู้นี้ว่า ไม่เข้าใจโลกความจริง
แหล่งข่าววงในกล่าวว่า เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 มิ.ย.) ปธน.มาครงได้ประชุมกับรัฐมนตรีและผู้ช่วยคนสำคัญเพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยพรรคของมาครงตัดสินใจที่จะไม่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งประมาณ 60 เขต จากทั้งหมด 577 เขต เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าผู้สมัครกระแสหลักรายอื่น ๆ มีแนวโน้มชนะมากกว่า
แต่บางคนในกลุ่มของปธน.มาครงก็แสดงความกังขาต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบสายฟ้าแลบครั้งนี้
"นี่คือการตัดสินใจของประธานาธิบดี มันเป็นอำนาจพิเศษของท่าน" นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับสถานีวิทยุ France Inter เมื่อวันอาทิตย์
"สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือมันสร้างความกังวล ความไม่เข้าใจ และบางครั้งก็เป็นความโกรธแค้นให้กับคนฝรั่งเศสทั่วประเทศ นั่นคือสิ่งที่ผมเห็นในหมู่โหวตเตอร์ของเรา"
พรรค RN ซึ่งเคยกล่าวไว้แล้วว่าจะลดภาษีพลังงานและลดอายุเกษียณ มีกำหนดจะเปิดเผยรายละเอียดแผนเศรษฐกิจในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ขณะเดียวกัน นายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB ไม่จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือฝรั่งเศสโดยการซื้อพันธบัตร เนื่องจากความผันผวนในตลาดเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น "ไม่ได้ยุ่งเหยิง"