ศาลสูงสหรัฐตัดสิน ทรัมป์มีความคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องร้องจากการกระทำสมัยเป็นปธน.

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 2, 2024 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลสูงสุดสหรัฐตัดสินในวันจันทร์ (1 ก.ค.) ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการกระทำใด ๆ ที่เขาทำในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ตราบใดที่การกระทำนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำตัดสินนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศสหรัฐในศตวรรษที่ 18 ที่ศาลสูงสุดตัดสินว่าอดีตประธานาธิบดีอาจได้รับการคุ้มครองจากข้อกล่าวหาทางอาญาในกรณีใด ๆ

คณะผู้พิพากษาลงมติ 6-3 ให้ยกฟ้องคำตัดสินของศาลชั้นต้นระบุว่านายทรัมป์สามารถถูกฟ้องจากข้อกล่าวหาทางอาญาของรัฐบาลกลาง จากการที่นายทรัมป์พยายามล้มผลการเลือกตั้งปี 2564 โดยผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม 6 คนเห็นชอบ ขณะที่ผู้พิพากษาสายเสรีนิยม 3 คนเห็นแย้ง

ทั้งนี้ คณะผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมของศาลนั้น มี 3 คนที่นายทรัมป์เป็นผู้แต่งตั้งมาเอง

"เราสรุปว่า ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่แยกออกจากกันตามรัฐธรรมนูญของเรา ลักษณะอำนาจของประธานาธิบดีกำหนดให้อดีตประธานาธิบดีต้องมีความคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องร้องคดีอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในระหว่างดำรงตำแหน่ง" หัวหน้าผู้พิพากษาจอห์น โรเบิร์ตส์ ระบุในคำตัดสิน

หัวหน้าผู้พิพากษาโรเบิร์ตส์เขียนว่า อดีตประธานาธิบดีนั้นได้รับความคุ้มกันโดยสมบูรณ์ตาม "อำนาจหลักตามรัฐธรรมนูญ" และอย่างน้อยที่สุด อดีตประธานาธิบดีมี "ความคุ้มกันโดยสันนิษฐาน" สำหรับ "การกระทำที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการของเขา" ซึ่งหมายความว่า อัยการต้องมีหลักฐานที่หนักแน่นมาก ๆ ถึงจะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐได้

หัวหน้าผู้พิพากษาโรเบิร์ตส์อ้างถึงความจำเป็นที่ประธานาธิบดีจะต้องสามารถ "ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไม่เกรงกลัวและเป็นธรรม" โดยไม่ต้องกลัวการถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม หัวหน้าผู้พิพากษาโรเบิร์ตส์ระบุเพิ่มเติมว่า "สำหรับการกระทำของประธานาธิบดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานอย่างเป็นทางการ ? จะไม่ได้รับความคุ้มกันใด ๆ"

ด้านนายทรัมป์แสดงความยินดีกับคำตัดสินในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย โดยเขียนว่า "ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของเรา ภูมิใจที่ได้เป็นคนอเมริกัน!"

ศาลวิเคราะห์พฤติกรรมของนายทรัมป์ 4 ประเภทที่ระบุในคำฟ้อง ได้แก่ 1. การหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐหลังการเลือกตั้ง, 2. การกดดันนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีในขณะนั้น ให้ขัดขวางการรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดน ในสภาคองเกรส, 3. บทบาทในการรวบรวมสมาชิกคณะผู้เลือกตั้งปลอมที่สนับสนุนทรัมป์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการรับรองผล และ 4. พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบุกโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 โดยกลุ่มผู้สนับสนุนของนายทรัมป์

ศาลตัดสินว่า นายทรัมป์มีความคุ้มกันอย่างสมบูรณ์สำหรับการสนทนากับเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ ศาลยังตัดสินว่า นายทรัมป์ "มีความคุ้มกันโดยสันนิษฐาน" สำหรับปฏิสัมพันธ์ของเขากับนายเพนซ์ อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเพนซ์และอีกสองประเด็น ศาลฎีกาส่งเรื่องกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาว่านายทรัมป์มีความคุ้มกันหรือไม่

ด้านผู้พิพากษาโซเนีย โซโตมายอร์ พร้อมด้วยผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมอีก 2 ท่าน คือ เอเลนา เคแกน และเคทันจิ บราวน์ แจ็กสัน แสดงความเห็นคัดค้านอย่างรุนแรงว่า คำตัดสินนี้มีผลเท่ากับการสร้าง "พื้นที่ปลอดกฎหมายรอบตัวประธานาธิบดี"

"ตามเหตุผลของเสียงส่วนใหญ่ในศาล เมื่อประธานาธิบดีใช้อำนาจอย่างเป็นทางการไม่ว่าด้วยวิธีใด ตอนนี้เขาจะได้รับความคุ้มกันไม่ให้ถูกฟ้องร้องคดีอาญา หากสั่งให้หน่วยซีลทีม 6 ของกองทัพเรือไปลอบสังหารคู่แข่งทางการเมือง? ได้รับความคุ้มกัน จัดตั้งรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจ? ได้รับความคุ้มกัน รับสินบนเพื่อแลกกับการอภัยโทษ? ได้รับความคุ้มกัน คุ้มกัน คุ้มกัน คุ้มกัน" ผู้พิพากษาโซโตมายอร์เขียน

"ทุกครั้งที่มีการใช้อำนาจอย่างเป็นทางการ ตอนนี้ประธานาธิบดีก็เป็นเหมือนกษัตริย์ที่อยู่เหนือกฎหมาย" ผู้พิพากษาโซโตมายอร์กล่าวเสริม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ