ผลวิจัยสหรัฐเผย ไทยมองจีนในแง่บวกมากที่สุดในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 10, 2024 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยพิว (Pew) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองของสหรัฐ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 35 ประเทศ เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อจีน ซึ่งผลปรากฏว่า ไทยเป็นประเทศที่มองจีนในแง่บวกมากที่สุดในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

รายงานดังกล่าวระบุว่า ทัศนคติที่ประชาชนทั่วโลกมีต่อจีนนั้นแตกต่างกันระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงกับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยความแตกต่างนี้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

จากการสำรวจประเทศที่มีรายได้สูง 18 ประเทศ พบว่ามีประเทศที่มองจีนในด้านลบไปแล้วถึง 15 ประเทศ ญี่ปุ่นและออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่มองจีนในแง่ลบสูงที่สุด โดยกว่า 8 ใน 10 ของประชากรในประเทศมีทัศนคติเชิงลบต่อจีน

ในทางตรงกันข้าม ในบรรดา 17 ประเทศรายได้ปานกลางที่ทำการสำรวจนั้น พบว่ามีประเทศที่มองจีนในด้านบวกถึง 14 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ที่ 80% ของประชากรวัยผู้ใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อจีน ถือเป็นประเทศที่มองจีนในแง่บวกมากที่สุดในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในการสำรวจนี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รายงานดังกล่าวได้เผยแพร่เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) ขณะที่ผู้นำประเทศสมาชิกนาโต (NATO) กำลังประชุมกันที่กรุงวอชิงตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามในยูเครน และขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับจีนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นข้อพิพาทด้านดินแดน

รายงานฉบับนี้พบว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความกังวลอย่างมากหรือพอสมควรเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านดินแดนของจีน

ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ เป็นประเทศที่มีความกังวลเรื่องนี้มากที่สุด โดยชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 9 ใน 10 แสดงความกังวล ส่วนในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็มีสัดส่วนของผู้ที่กังวลในระดับใกล้เคียงกัน

ขณะที่ไทยซึ่งไม่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกับจีน เป็นประเทศที่กังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านดินแดนของจีนน้อยที่สุด หรือเพียง 4 ใน 10 และคนไทย 80% มองว่าจีนมีส่วนช่วยในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทั่วโลก

สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในภาพรวมนั้น ผลสำรวจพบว่า ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย มีมุมมองที่ไม่เป็นมิตรต่อจีนมากที่สุด ในขณะที่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และศรีลังกา แสดงมุมมองที่เป็นมิตรต่อจีนมากที่สุด


แท็ก สหรัฐ   สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ