บังกลาเทศเริ่มเปิดสัญญาณโทรคมนาคมบางส่วน หลังสถานการณ์ประท้วงเริ่มคลี่คลาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 24, 2024 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากเกิดเหตุประท้วงรุนแรงต่อต้านการสงวนโควตางานราชการ จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 150 คน ล่าสุด บังกลาเทศได้เริ่มเปิดให้บริการโทรคมนาคมบางส่วนอีกครั้งแล้วในวันนี้ (24 ก.ค.) แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะยังช้าอยู่และโซเชียลมีเดียยังคงถูกระงับการใช้งาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สถานการณ์ในประเทศบังกลาเทศส่วนใหญ่สงบลงตั้งแต่วันอาทิตย์ (21 ก.ค.) หลังศาลฎีกามีคำสั่งให้ลดโควตาสงวนงานราชการไว้สำหรับกลุ่มคนประเภทต่าง ๆ ให้เหลือเพียง 7% ซึ่งเป็นการกลับคำตัดสินของศาลสูงที่เคยสั่งให้กลับมาใช้ระบบโควตา 56% ในงานราชการ ทั้งที่ระบบนี้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2561

ด้านรัฐบาลบังกลาเทศภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เชค ฮาซีนา ประกาศเมื่อวันอังคาร (23 ก.ค.) ว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลฎีกา

อนึ่ง ระบบโควตาดังกล่าวรวมถึงการสงวนตำแหน่งงานราชการ 30% ไว้สำหรับครอบครัวของ "นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ" จากสงครามประกาศเอกราชจากปากีสถานเมื่อปี 2514

เมื่อสถานการณ์การประท้วงต่อต้านระบบโควตาเริ่มคลี่คลายลง รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนปรนเคอร์ฟิวที่บังคับใช้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยในวันนี้ จะผ่อนปรนข้อจำกัดเป็นเวลา 7 ชั่วโมง และสำนักงานต่าง ๆ จะเปิดทำการตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึง 15.00 น.

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วงได้ยื่นคำขาดครั้งใหม่ให้รัฐบาลอีก 48 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อ จากทั้งหมด 8 ข้อ และจะประกาศแผนขั้นต่อไปหลังจากเลยเส้นตายในวันพฤหัสบดีนี้ (25 ก.ค.)

"เราต้องการให้รัฐบาลตอบสนองข้อเรียกร้อง 4 ข้อของเรา ซึ่งรวมถึงการคืนบริการอินเทอร์เน็ต การถอนกำลังตำรวจออกจากมหาวิทยาลัย และการเปิดมหาวิทยาลัย (ซึ่งถูกปิดมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว)" นาฮิด อิสลาม ผู้ประสานงานการประท้วงกล่าว

ทั้งนี้ บังกลาเทศ ประเทศในเอเชียใต้ที่มีประชากร 170 ล้านคน ต้องเผชิญกับการประท้วงนับตั้งแต่คำตัดสินของศาลสูงเมื่อเดือนที่แล้ว คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้ตำแหน่งงานราชการที่เปิดรับตามความสามารถเหลือที่นั่งไม่ถึงครึ่ง ในขณะที่คนหนุ่มสาวราว 32 ล้านคนไม่มีงานทำหรือไม่ได้ศึกษาต่อ

การประท้วงยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่นายกฯ ฮาซีนาปฏิเสธที่จะตอบสนองตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แถมยังตราหน้าพวกเขาว่าเป็น "ราซาการ์" (razakar) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ร่วมมือกับกองทัพปากีสถานในช่วงสงคราม

ในสัปดาห์นี้ นายกฯ ฮาสินาโยนความผิดให้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรง และกล่าวว่าจะยกเลิกเคอร์ฟิว "เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์ดีขึ้น"

ด้านพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh Nationalist Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หลายประเทศในภูมิภาค รวมถึงอินเดียและมาเลเซีย ได้อพยพพลเมืองของตนออกจากบังกลาเทศแล้วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ