วุฒิสภาสหรัฐลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปความคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์แบบเกือบเป็นเอกฉันท์เมื่อวันอังคาร (30 ก.ค.) แม้ว่าร่างกฎหมายนี้ได้รับเสียงตอบรับที่หลากหลายจากวงการเทคโนโลยี และยังไม่ชัดเจนว่าจะผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ร่างกฎหมายสองฉบับได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของเด็กและวัยรุ่น (COPPA 2.0) และพ.ร.บ.ความปลอดภัยออนไลน์สำหรับเด็ก (KOSA) จะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมจนถึงเดือนก.ย. ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับด้วยคะแนนเสียง 91 ต่อ 3 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่หาได้ยากระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน
สำหรับ COPPA 2.0 นั้นจะห้ามไม่ให้โฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน รวมถึงห้ามเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม นอกจากนี้ยังให้สิทธิ์ทั้งผู้ปกครองและเด็ก ๆ ในการลบข้อมูลของตัวเองออกจากโซเชียลมีเดียได้
"เด็ก ๆ ไม่ใช่สินค้าของพวกคุณ เด็ก ๆ ไม่ใช่ตัวสร้างกำไรให้พวกคุณ และเราจะปกป้องพวกเขาในโลกออนไลน์" วุฒิสมาชิกมาร์ชา แบล็กเบิร์น สมาชิกพรรครีพับลิกันผู้ร่วมผลักดันกฎหมาย KOSA กล่าวในการแถลงข่าวหลังการลงคะแนนเสียงเมื่อวันอังคาร
มอรีน โมแลค ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ParentsSOS ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่สูญเสียลูกจากปัญหาเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียกล่าวว่า การโหวตครั้งนี้เป็น "ก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับทั้งตัวฉันเองและผู้ปกครองทุกคนที่ต่อสู้มาอย่างไม่ย่อท้อเพื่อปกป้องลูก ๆ ของพวกเรา"
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วพบว่า ในปี 2565 บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของสหรัฐทำเงินจากโฆษณาที่เข้าถึงผู้ใช้อายุต่ำกว่า 18 ปีได้มากถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์
KOSA จะกำหนดให้บริษัทโซเชียลมีเดียต้องมี "หน้าที่ดูแล" เยาวชนที่ใช้บริการของตนอย่างชัดเจน โดยเน้นไปที่การออกแบบแพลตฟอร์มและการกำกับดูแลบริษัทเหล่านี้
ในการรับฟังความเห็นของสภาคองเกรสเมื่อเดือนม.ค. ผู้บริหารของสแนป (Snap) และเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ออกมาสนับสนุน KOSA อย่างเต็มที่ แต่ในทางกลับกัน นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา (Meta) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) รวมถึงนายโจว โช่ว จือ ซีอีโอของติ๊กต๊อก (TikTok) กลับแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของร่างกฎหมายฉบับนี้
กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ได้วิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ โดยชี้ว่าการตีความ "เนื้อหาอันตราย" ที่แตกต่างกันอาจทำให้เยาวชนไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องวัคซีน การทำแท้ง หรือประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ ได้
เมื่อต้นปีนี้ วุฒิสมาชิกได้ปรับแก้ถ้อยคำในร่างกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลเหล่านี้ โดยส่วนหนึ่งคือการจำกัดอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายของอัยการสูงสุดในแต่ละรัฐ
แม้จะมีการปรับแก้แล้ว แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี
"พวกเขาปรับปรุงร่างกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่ดีพอ" วุฒิสมาชิกรอน ไวเดนจากพรรคเดโมแครตกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อคืนวันจันทร์ (29 ก.ค.) "ผมยังกังวลว่ากฎหมายนี้จะส่งผลเสียต่อเด็กกลุ่ม LGBTQ จำนวนมาก เพราะมันจะทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลได้ยากขึ้น"
ทั้งนี้ สว.ไวเดนเป็นหนึ่งในสามคนที่โหวตคัดค้านร่างกฎหมายนี้เมื่อวันอังคาร
ขณะเดียวกัน มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (ITIF) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเมตา, กูเกิล (Google) และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่น ๆ วิจารณ์ว่า ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีจุดบกพร่อง โดยกลุ่มนี้ชี้ว่า KOSA อาจนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ส่วน COPPA 2.0 ก็อาจทำให้บริการต่าง ๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นต้องสูญเสียรายได้
"ประเทศนี้ต้องการกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของเด็กในโลกออนไลน์ แต่ต้องสมดุลพอดี คือปกป้องผู้บริโภคได้ โดยไม่ไปละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกหรือปิดกั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ" แอช จอห์นสัน ผู้จัดการอาวุโสด้านนโยบายของ ITIF กล่าว