แผนเปิดตัวระบบการยืนยันตัวตนทั่วประเทศของจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการสอดส่องความเป็นส่วนตัวที่มากเกินไปในจีน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางรายและผู้ใช้งานในจีนได้ออกมาแสดงความสงสัยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเป้าหมายของระบบดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจีนระบุว่ามีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว หลังจากที่ทางการจีนได้เผยแพร่ข้อเสนอดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตจีนและตำรวจระบุว่า ผู้ใช้งานสามารถเลือกปรับใช้ดิจิทัลไอดี (digital ID) ดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถยืนยันตัวตนทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่จำเป็นให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
นายเหลา ตงหยาน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวในโพสต์บนเว่ยป๋อ (Weibo) ซึ่งตอนนี้ได้ถูกลบออกไปแล้วว่า "เจตนาที่แท้จริงคือการยกระดับการควบคุมการแสดงออกส่วนบุคคลบนช่องทางออนไลน์" ขณะที่นายตู่ จ้าวหยง ทนายความ กล่าวในโพสต์อื่นว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสร้างความเสียหาย "อย่างใหญ่หลวง" ต่อกระแสความอิสระของข้อมูล
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องใช้ข้อมูลประจำตัวจริงเพื่อลงทะเบียนใช้บริการดิจิทัล และสามารถเข้าถึงพฤติกรรมและการสื่อสารออนไลน์ของผู้ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง แต่ระบบดิจิทัลไอดีแบบรวมศูนย์ใหม่นี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามดูชีวิตออนไลน์ของผู้คนได้โดยตรงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นายเจเรมี ดาอุม นักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์จีนศึกษาพอล ไช่ (Paul Tsai China Center) ของคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ชาวจีนอาจระมัดระวังระบบดังกล่าวมากขึ้น หลังจากที่เคยใช้งานระบบระบุตัวตนออนไลน์ที่จีนใช้ระหว่างการระบาดของโควิด-19 เพื่อบันทึกและควบคุมการเคลื่อนไหวของพลเมืองเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมาแล้ว