สำนักข่าว KCNA ของรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานในวันนี้ (16 ส.ค.) ว่า นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ได้ตอกย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับรัสเซียในสาส์นแสดงความขอบคุณต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เนื่องในวันประกาศอิสรภาพของเกาหลีเหนือ (15 ส.ค.) ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 79 ปีการประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
KCNA รายงานว่า สาส์นดังกล่าวเป็นการตอบรับข้อความแสดงความยินดีจากผู้นำรัสเซีย ที่ระบุว่า ความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่ก่อร่างสร้างขึ้นในสมัยที่ทหารโซเวียตร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพเกาหลีเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นนั้น ยังคงเป็นรากฐานสำคัญของสายสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
"มิตรภาพระหว่างกองทัพและประชาชนของทั้งสองประเทศที่หล่อหลอมและหยั่งรากลึกในการต่อสู้นองเลือดกับศัตรูร่วมกัน ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนอันแข็งแกร่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือ สู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านและความสัมพันธ์ฉันสหายที่ไม่มีวันพ่ายแพ้" นายคิมกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายคิมและปธน.ปูติน ได้พบกันในการประชุมสุดยอดครั้งที่สองในรอบไม่ถึงปี ณ กรุงเปียงยาง เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการลงนามในข้อตกลง "ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" ซึ่งรวมถึงข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกัน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากเกาหลีใต้ ยูเครน และสหรัฐอเมริกา ที่ว่าเกาหลีเหนือกำลังให้ความช่วยเหลือรัสเซียในสงครามยูเครน ด้วยการจัดหาขีปนาวุธและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แลกกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารจากรัสเซีย
KCNA รายงานว่า นายคิมได้เดินทางเยือนอนุสรณ์สถานสองแห่ง แห่งแรกคืออนุสรณ์สถานวีรชนเพื่อรำลึกถึงทหารปฏิวัติเกาหลีที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น จนนำไปสู่การปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2453-2488 ส่วนอีกแห่งคือหอคอยปลดแอก (Liberation Tower) ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงวีรกรรมของทหารกองทัพแดงโซเวียต
อนึ่ง นายคิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ และเป็นปู่ของนายคิม จองอึน ได้รับการสนับสนุนจากนายพลโจเซฟ สตาลิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพโซเวียตให้การสนับสนุนกองกำลังคอมมิวนิสต์ของนายคิม จนนำไปสู่การสถาปนาประเทศเกาหลีเหนือในปี 2491
อย่างไรก็ตาม สื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือไม่ได้กล่าวถึง "พิมพ์เขียว" แผนการรวมชาติที่ประกาศโดยประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกร้องให้มีการเจรจากับเกาหลีเหนือ และเสนอให้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ
แผนการรวมชาติของปธน.ยุนมีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปีของสองเกาหลี โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือที่เกาหลีเหนือจะมองแผนนี้เป็นอย่างอื่น นอกจากภัยคุกคามที่จะมาถอนรากถอนโคนระบอบการปกครองของตน