โคคา-โคล่า (Coca-Cola) และเป๊ปซี่โค (PepsiCo) บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ทั้งสองรายกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่จากบรรดาผู้ผลิตน้ำอัดลมท้องถิ่นในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อาทิ อียิปต์และปากีสถาน หลังเกิดกระแสการบอยคอตหรือการคว่ำบาตรจากผู้บริโภค ซึ่งมุ่งเป้าไปยังแบรนด์ระดับโลกต่าง ๆ ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกา และหมายรวมไปถึงอิสราเอลในช่วงสงครามที่ฉนวนกาซา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยอดขายโค้ก (Coke) ในอียิปต์ลดลงในปีนี้ ขณะที่ V7 แบรนด์น้ำอัดลมในท้องถิ่นของอียิปต์ส่งออกโคล่าของตัวเองไปยังตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ มากกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่า ส่วนในบังกลาเทศ การประท้วงที่เกิดขึ้นบีบให้โคคา-โคล่าต้องยกเลิกแคมเปญโฆษณาต่อต้านการคว่ำบาตร ขณะเดียวกันการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเป๊ปซี่ (Pepsi) ในตะวันออกกลางก็จางหายไปหลังจากสงครามกาซาเปิดฉากขึ้นในเดือนต.ค. 2566
ซันบัล ฮัสซัน ผู้บริหารบริษัทปากีสถานไม่สั่งโค้กและเป๊ปซี่เป็นเมนูเครื่องดื่มในงานแต่งงานของเธอที่กรุงการาจีเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เธอไม่ต้องการรู้สึกว่าเงินของเธอไปลงเอยที่คลังภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของอิสราเอล
นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) บริษัทวิจัยตลาดระบุว่า แม้นักวิเคราะห์ตลาดระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนยอดขายที่สูญเสียไปเป็นสกุลเงินดอลลาร์ และเป๊ปซี่โคและโคคา-โคล่ายังคงมีธุรกิจที่เติบโตขึ้นในหลายประเทศในตะวันออกกลาง แต่ทั้งสองแบรนด์มียอดขายลดลง 7% ในช่วงครึ่งปีแรกในภูมิภาคดังกล่าว
ผู้บริโภคจำนวนมากเลิกสนับสนุนโคคา-โคล่าและเป๊ปซี่โค โดยให้เหตุผลว่า สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลมาหลายสิบปี ซึ่งรวมถึงในการสู้รบกับกลุ่มฮามาสที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันด้วย
รามอน ลากูอาร์ตา ซีอีโอของเป๊ปซี่โคกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงมุมมองทางการเมือง" และเสริมว่า การคว่ำบาตรดังกล่าว "กำลังส่งผลกระทบกับบางพื้นที่เป็นพิเศษ เช่น เลบานอน ปากีสถาน และอียิปต์"