ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) ว่า ชาติตะวันตกน่าจะมาสู้กับรัสเซียโดยตรง หากยอมให้ยูเครนโจมตีดินแดนรัสเซียด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลที่ผลิตขึ้นในประเทศตะวันตก อันเป็นความเคลื่อนไหวที่เขาระบุว่าจะทำให้ธรรมชาติและขอบเขตของความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงไป
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนได้ร้องขอต่อบรรดาพันธมิตรมานานหลายเดือนเพื่อให้ยูเครนยิงขีปนาวุธของชาติตะวันตกซึ่งรวมถึง ขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (ATACMS) ของสหรัฐฯ และขีปนาวุธสตอร์ม ชาโดว์ (Storm Shadows) ของอังกฤษเข้าไปในดินแดนรัสเซีย เพื่อจำกัดความสามารถของรัสเซียในการโจมตี
ปธน.ปูตินกล่าวในการแสดงความเห็นที่แข็งกร้าวที่สุดครั้งหนึ่งของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะลากประเทศต่าง ๆ ที่ส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครนเข้าสู่สงครามโดยตรง เนื่องจากข้อมูลการกำหนดเป้าหมายผ่านดาวเทียมและการเขียนโปรแกรมเส้นทางการบินของขีปนาวุธจะต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทหารของนาโต (NATO) เนื่องจากยูเครนไม่มีขีดความสามารถดำเนินการดังกล่าวด้วยตัวเอง
ปธน.ปูตินระบุในแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ว่า "คำถามที่ถูกต้องไม่ใช่ว่าจะยอมให้ยูเครนใช้อาวุธเหล่านี้โจมตีรัสเซียหรือไม่ แต่เป็นการตัดสินใจว่านาโตจะเข้ามาพัวพันในความขัดแย้งทางการทหารครั้งนี้โดยตรงหรือไม่ หากตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม นั่นหมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากชาตินาโต สหรัฐฯ และยุโรปจะเข้ามามีส่วนในสงครามในยูเครนโดยตรง ซึ่งจะถือว่าพวกเขาเข้าร่วมแล้ว และแน่นอนว่ามันจะเปลี่ยนแปลงแก่นแท้ และธรรมชาติของความขัดแย้งนี้เป็นอย่างมาก"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัสเซียจะถูกบีบให้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ปธน.ปูตินเรียกว่า "การตัดสินใจอย่างเหมาะสม" โดยพิจารณาจากภัยคุกคามใหม่
อย่างไรก็ตาม ปธน.ปูตินไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามาตรการเหล่านั้นคืออะไร แต่เขาเคยพูดถึงแนวทางเกี่ยวกับการติดอาวุธของรัสเซียให้กับศัตรูของชาติตะวันตกเพื่อโจมตีเป้าหมายฝ่ายตะวันตกจากต่างประเทศ และในเดือนมิ.ย. เขาพูดถึงการติดตั้งขีปนาวุธแบบดั้งเดิมไว้ในระยะโจมตีสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปด้วย