International IDEA ชี้ประชาธิปไตยโลกถดถอยเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 18, 2024 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอยลงอีกครั้งในปี 2566 โดยความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งและการตรวจสอบของรัฐสภาลดลงมากที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ อันเป็นผลมาจากการข่มขู่ของรัฐบาล การแทรกแซงจากต่างประเทศ การบิดเบือนข้อมูล และการหาเสียงโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางที่ผิด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และในประเทศประชาธิปไตยอ่อนแอ ขณะที่สถานการณ์ประชาธิปไตยในไทยดีขึ้นสวนทางภูมิภาค

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง (International Institute for Democracy and Electoral Assistance หรือ International IDEA) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และมีรัฐบาล 35 ประเทศเป็นสมาชิกระบุว่า ความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งกำลังถูกคุกคามจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ลดลง ขณะที่ผลการเลือกตั้งถูกโต้แย้งมากขึ้น โดยผลการเลือกตั้งถึงหนึ่งในสามถูกโต้แย้งในทางใดทางหนึ่ง

International IDEA เปิดเผยว่า อัตราเฉลี่ยของประชากรที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ลดลงจาก 65.2% ในปี 2551 เหลือ 55.5% ในปี 2566

"การเลือกตั้งยังคงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะยุติความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย และพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น" เควิน คาซัส-ซาโมรา เลขาธิการ International IDEA กล่าว "ความสำเร็จของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยหากการเลือกตั้งล้มเหลว"

รายงานสถานการณ์ประชาธิปไตยโลก (Global Report on the State of the Democracy) ซึ่งวัดสมรรถนะของประชาธิปไตย (Democratic Performance) ใน 158 ประเทศตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน เผยให้เห็นว่า 47% ของประเทศที่ทำการสำรวจพบตัวชี้วัดประชาธิปไตยที่สำคัญปรับตัวลดลงในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปีที่แปดติดต่อกันที่ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย

รายงานระบุด้วยว่า เกือบ 20% ของการเลือกตั้งทั่วโลกระหว่างปี 2563-2567 นั้น ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งปฏิเสธผลการเลือกตั้ง และ 20% ของการเลือกตั้งถูกตัดสินโดยการอุทธรณ์ต่อศาล

ทั้งนี้ ปี 2566 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในแง่ของการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และการตรวจสอบของรัฐสภา (Parliamentary Oversight) เนื่องด้วยการแทรกแซงจากต่างประเทศ การบิดเบือนข้อมูล และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการรณรงค์หาเสียง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง หรือรัฐบาลที่เปราะบาง

ประเทศในเอเชียตะวันตกมากกว่าหนึ่งในสามมีสมรรถนะประชาธิปไตยย่ำแย่ลง ในขณะที่ยุโรป พบว่าสถานการณ์แย่ลง โดยเฉพาะหลักนิติธรรมและเสรีภาพพลเมือง ส่วนภูมิภาคส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาสถานการณ์ยังคงที่ ยกเว้นกัวเตมาลา เปรู และอุรุกวัย ที่ถดถอยลง

ด้านสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงเล็กน้อยหรือคงที่ ขณะที่มีการปรับปรุงอย่างเห็นได้ชัดในฟิจิ มัลดีฟส์ และไทย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ประชาธิปไตยในอัฟกานิสถานและเมียนมาลดลงอย่างมาก โดยในอัฟกานิสถานนั้น นับตั้งแต่ที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจบริหารประเทศในปี 2564 ทางกลุ่มยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่าเป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนในเมียนมาเกิดการลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐประหารและทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลทหารจนถึงปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ