รัสเซียเปิดเผยในวันนี้ (8 ต.ค.) ว่า ยังคงมีสายด่วนฉุกเฉินกับสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) เพื่อคลี่คลายวิกฤตต่าง ๆ ขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะด้วยอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มสูงขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สายด่วนระหว่างทางการรัสเซียและสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2506 เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารซึ่งครั้งนั้นก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 2505 โดยเปิดทางให้ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียสามารถสื่อสารกันโดยตรงได้
สายด่วนดังกล่าวปัจจุบันได้กลายเป็นระบบการติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ โดยถูกใช้งานในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น สงคราม 6 วันในปี 2510 กรณีโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานในปี 2522 เหตุการณ์ 9/11 ในปี 2544 และหลังสหรัฐฯ รุกรานอิรักในปี 2546
นอกเหนือจากสายด่วนโดยตรงระหว่างสองผู้นำแล้ว ยังมีสายด่วนนิวเคลียร์ระหว่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) และกระทรวงกลาโหมรัสเซียที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามเย็น เพื่อลดความเสี่ยงในการทำสงครามนิวเคลียร์ด้วย
ทั้งนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งยกพลบุกยูเครนในเดือนก.พ. 2565 กองทัพสหรัฐฯ และรัสเซียได้ก่อตั้งสายด่วน "คลายความขัดแย้ง" เพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนกลายเป็นสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย
ขณะที่สายด่วนรัสเซียและนาโตก่อตั้งขึ้นในปี 2556 เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ