เจ้าหน้าที่รัฐจอร์เจียเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (16 ต.ค.) ว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่รัฐสมรภูมิแห่งนี้เปิดให้ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. ระหว่างคามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต กับโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน
เกเบรียล สเตอร์ลิง รองผู้อำนวยการการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจีย กล่าวว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างน้อย 252,000 คนแล้ว เมื่อนับจนถึงเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (03.00 น. ของวันพุธ ตามเวลาไทย) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากจำนวน 136,000 คนที่มาใช้สิทธิในวันแรกของการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อสี่ปีที่แล้ว
"จำนวนผู้มาใช้สิทธิครั้งนี้น่าทึ่งมาก" สเตอร์ลิงโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การลงคะแนนล่วงหน้า ไม่ว่าจะลงด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งของมหาวิทยาลัยฟลอริดาระบุว่า ในปี 2563 มีผู้ลงคะแนนเสียงล่วงหน้ามากเกือบ 1 ใน 7 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมากต่างคัดค้านการขยายการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์อย่างมากในปีนั้น โดยให้เหตุผลว่าการลงคะแนนทางไปรษณีย์มีความปลอดภัยน้อยกว่าการลงคะแนนด้วยตนเอง และทรัมป์เองได้กล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์ ขณะที่พยายามล้มผลการเลือกตั้งที่เขาพ่ายให้กับโจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตในขณะนั้น
จนถึงขณะนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนยังคงยืนกรานว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรออกไปลงคะแนนด้วยตนเองเท่านั้นในวันเลือกตั้ง แม้เจ้าหน้าที่ของพรรคอีกหลายรายสนับสนุนการลงคะแนนล่วงหน้าก็ตาม
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งระบุว่า ในปีนี้มีชาวอเมริกันใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วประมาณ 5.5 ล้านคนทั่วประเทศ ขณะที่ปี 2563 มีผู้ลงคะแนนล่วงหน้าประมาณ 27 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่เลือกตั้งที่แออัดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
รัฐจอร์เจีย และอีกบางรัฐ เช่น รัฐนอร์ทแคโรไลนา เพิ่มความเข้มงวดในการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ตั้งแต่การเลือกครั้งที่แล้ว โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการลงคะแนนล่วงหน้าต้องแสดงหลักฐานยืนยันตัวตน และจำกัดจำนวนสถานที่ที่สามารถส่งบัตรลงคะแนนได้
ทั้งนี้ รัฐจอร์เจีย และนอร์ทแคโรไลนา เป็นสองในเจ็ดรัฐสมรภูมิสำคัญที่คาดว่าจะมีบทบาทอย่างมากต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ