ญี่ปุ่นกังวลมาเลย์-ไทยเปลี่ยนขั้วพันธมิตร หลังขอเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 16, 2024 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ญี่ปุ่นกำลังจับตามาเลเซียและไทยอย่างใกล้ชิดในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังยื่นขอเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ (BRICS) ซึ่งเป็นคู่แข่งของมหาอำนาจทางการค้าอย่างยุโรป, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ญี่ปุ่นกังวลว่า มาเลเซียและไทยอาจจะละทิ้งความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีความสมดุลซึ่งพวกเขารักษาไว้ในอดีต และอาจเริ่มให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ได้รับอิทธิพลจากจีนและรัสเซียมากขึ้น

โก อิโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเมจิในกรุงโตเกียวกล่าวว่า จะมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ในญี่ปุ่น

อิโตะกล่าวว่า ทั้งประเทศไทยและมาเลเซียคาดหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากการเข้าร่วม BRICS โดยมาเลเซียต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) รายงานว่า ไทยได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในเดือนมิ.ย. และมาเลเซียก็ได้ยืนยันการสมัครในเดือนก.ค. โดยคาดว่าการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่จะจัดขึ้นในรัสเซียในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้จะอนุมัติคำขอของ 2 ประเทศนี้

กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 โดยมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้

นับตั้งแต่นั้นมา กลุ่ม BRICS ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น 6 ประเทศในการประชุมสุดยอดที่แอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว จีนและรัสเซียมีความกระตือรือร้นที่จะชักชวนประเทศต่าง ๆ จาก "กลุ่มโลกใต้" (Global South) ที่รู้สึกว่าถูกมองข้ามจากประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยมุ่งหวังที่จะถ่วงดุลอำนาจของชาติตะวันตก

ในการรับมือกับการขยายตัวของกลุ่มบริกส์ ญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มที่จะนิ่งเฉย โดยอิโตะคาดว่า ญี่ปุ่นจะกระชับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นกับไทยและมาเลเซียในลักษณะเดียวกับที่ญี่ปุ่นทำกับเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของจีนในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม เจฟฟ์ คิงส์ตัน ผู้อำนวยการด้านการศึกษาด้านเอเชียที่มหาวิทยาลัยเทมเพิลในโตเกียวเชื่อว่า การที่มาเลเซียและไทยยื่นคำร้องขอเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อาจไม่ได้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของการเป็นพันธมิตรกัน โดยเขากล่าวว่า "ตอนนี้ผมยังไม่เห็นใคร "เลือกข้าง" อย่างแท้จริง แต่พวกเขากำลังนั่งอยู่ตรงกลางอย่างฉลาด และรอดูว่าพวกเขาอาจจะได้ประโยชน์หรือข้อเสนออะไรจากกลุ่มต่าง ๆ "


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ