เหล่าสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติคนสำคัญของสหรัฐฯ ได้ออกมากดดันให้คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สกัดกั้นไม่ให้เหล่าซัพพลายเออร์ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ (Huawei Technologies) ซื้ออุปกรณ์การผลิตชิปของสหรัฐฯ เพื่อยกระดับความพยายามในการขัดขวางความคืบหน้าของหัวเว่ยในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยกิจการจีนประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลในหนังสือถึงจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) โดยชี้ว่า บริษัทต่าง ๆ ของจีนทั้ง Pengxinxu, SwaySure Technology, Qingdao Si'En และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย อาจเป็นสมาชิกในเครือข่ายลับของหัวเว่ย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้สกัดกั้นการขายชิปและอุปกรณ์การผลิตที่ล้ำหน้าที่สุดให้กับจีน ซึ่งรวมถึงจากบริษัทสหรัฐฯ สามแห่ง ได้แก่ Applied Materials, Lam Research และ KLA ตลอดจน ASML ของเนเธอร์แลนด์ และ Tokyo Electron ของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ยังดำเนินการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อบริษัทจีนหลายแห่ง รวมถึงหัวเว่ย และเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟเจอริง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ป (SMIC) โดยสั่งห้ามซื้อเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทจีนที่ยังไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีดำยังคงสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชิปรุ่นเก่า ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากทางการสหรัฐฯ
จอห์น มูเลนาร์ จากพรรครีพับลิกัน ผู้เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว รวมถึงราชา กฤษณมูรติ สมาชิกคณะกรรมการฯ จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า "เราต้องเดินหน้าสานต่อความพยายามในการสกัดกั้นไม่ให้หัวเว่ยและบริษัทอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ"
ด้านโฆษกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ "ได้รับหนังสือแล้ว และจะตอบกลับผ่านช่องทางที่เหมาะสม"
ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้จีนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงที่อาจเป็นประโยชน์ต่อกองทัพได้ โดยสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่หัวเว่ยเป็นพิเศษ ซึ่งได้เปิดตัวสมาร์ตโฟนไปเมื่อปีที่แล้วโดยใช้ชิปขั้นสูงขนาด 7 นาโนเมตรจาก SMIC หน่วยประมวลผลดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้าที่ทำให้สำเร็จได้ยากเมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีข้อจำกัดเพิ่มเติมและมีการสอบสวนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ