การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) ขณะที่ผลการสำรวจจากหลายสำนักต่างบ่งชี้คะแนนนิยมที่สูสึกันอย่างมากระหว่างนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน โดยผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง
อย่างไรก็ดี จะเกิดอะไรขึ้น หากนางแฮร์ริสและนายทรัมป์ต่างก็ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากันที่ 269-269 ซึ่งจะทำให้ทั้งสองไม่สามารถได้รับคะแนน 270 เสียงที่เพียงพอสำหรับการคว้าชัยชนะในครั้งนี้
บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 12 ได้ระบุทางออกของปัญหาดังกล่าว โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า "contingent election" โดยสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ใดคว้าชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ส่วนวุฒิสภาจะเป็นผู้เลือกรองประธานาธิบดี
ทั้งนี้ ในการลงคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎรนั้น แต่ละรัฐสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียง ซึ่งถ้าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรายใดได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 26 เสียง ก็จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
ส่วนในการลงคะแนนเสียงของวุฒิสภานั้น วุฒิสมาชิกแต่ละคนสามารถลงคะแนนเสียงได้คนละ 1 เสียง ซึ่งถ้าผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนใดได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 51 เสียง ก็จะเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
ก่อนหน้านี้ สหรัฐได้เคยใช้กระบวนการ "contingent election" ในการเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาแล้วในปี 1801, 1825 และ 1837