อินโดฯ ยัน ไร้ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทะเลจีนใต้กับจีน แม้เพิ่งเซ็นดีลพัฒนาน่านน้ำร่วม

ข่าวต่างประเทศ Monday November 11, 2024 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อินโดนีเซียประกาศในวันนี้ (11 พ.ย.) ว่า ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้ แม้จะมีการลงนามข้อตกลงพัฒนาพื้นที่ทางทะเลร่วมกับรัฐบาลจีนก็ตาม โดยนักวิเคราะห์บางรายเตือนว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการละเมิดอธิปไตยของประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลจีนมีข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน กรณีที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยใช้ "เส้นประ 9 เส้น" ในแผนที่ของตน ซึ่งเส้นนี้ตัดผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของหลายประเทศ

ทั้งนี้ การทำข้อตกลงร่วมกับจีนในน่านน้ำเชิงยุทธศาสตร์นี้เป็นประเด็นอ่อนไหวมาหลายปี โดยบางประเทศระแวงว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจถูกตีความว่าเป็นการยอมรับการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต แห่งอินโดนีเซีย เดินทางเยือนปักกิ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และออกแถลงการณ์ร่วมกับจีนโดยระบุว่าทั้งสองประเทศได้ "บรรลุความเข้าใจร่วมกันที่สำคัญในการพัฒนาร่วมกันในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อน"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียยืนกรานหลายครั้งว่า ประเทศตนไม่ใช่รัฐที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้และไม่มีเขตอำนาจทับซ้อนกับจีน

ทางกระทรวงฯ ระบุในวันนี้ว่า จุดยืนของตนไม่เปลี่ยนแปลงและข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิอธิปไตยของชาติ

"อินโดนีเซียยืนยันจุดยืนว่าการอ้างสิทธิ์เหล่านั้น (ของจีน) ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ" กระทรวงฯ กล่าว

"ความร่วมมือนี้ไม่ส่งผลกระทบต่ออธิปไตย สิทธิอธิปไตย หรือเขตอำนาจของอินโดนีเซียในทะเลนาตูนาเหนือ"

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงโต้ว่า ข้อตกลงดังกล่าว "ชี้แจงฉันทมติทางการเมืองและทิศทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทางทะเลที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างสองประเทศ"

หลิน เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า อินโดนีเซียและจีนจะศึกษาประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น เนื้อหาและรูปแบบความร่วมมือ พร้อมระบุว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ และฉันทมตินี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชาวอินโดนีเซียบางรายมองว่า การเซ็นข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นดาบสองคม และถูกตีความได้ว่าอินโดนีเซียเปลี่ยนจุดยืน

"หากเราอ้างอิงตามแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่าเรายอมรับว่ามีพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน" อริสตโย ริซกา ดาร์มาวัน นักวิเคราะห์ด้านทางทะเลกล่าว พร้อมเสริมว่าข้อตกลงนี้อาจส่งผลต่อสิทธิอธิปไตยของอินโดนีเซียในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในเขต EEZ ของตน

ดาร์มาวันกล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียอาจลงนามในข้อตกลงนี้โดยมีเจตนาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ