สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า สมาชิกในทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังรวบรวมรายชื่อนายทหารที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยอาจรวมถึงคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นการปฏิรูปครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยว่า การวางแผนปลดบุคลากรทางทหารนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นภายหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย. และอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตเมื่อคณะบริหารชุดใหม่ของทรัมป์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้โจมตีผู้นำกลาโหมที่วิจารณ์เขาอย่างรุนแรง และในระหว่างการหาเสียงได้ประกาศว่าจะปลดนายพล "สายโว้ก" (Woke) รวมถึงผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความวุ่นวายในการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564
คณะผู้บริหารชุดใหม่มีแผนจะมุ่งเป้าไปที่นายทหารที่มีความเชื่อมโยงกับมาร์ก มิลลีย์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการร่วมในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี โดยมิลลีย์ถูกอ้างคำพูดในหนังสือ "War" ของบ็อบ วู้ดเวิร์ด ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาได้เรียกทรัมป์ว่าเป็น "ฟาสซิสต์โดยสันดาน"
แหล่งข่าวอีกรายระบุว่า "บุคคลทุกคนที่มิลลีย์เคยเลื่อนขั้นและแต่งตั้งจะต้องพ้นจากตำแหน่ง และเรามีรายชื่อโดยละเอียดของทุกคนที่เคยร่วมงานกับมิลลีย์"
แผนการนี้ถูกเปิดเผยเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทรัมป์ได้แต่งตั้งพีท เฮกเซธ ผู้ร่วมวิเคราะห์ข่าวของฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) และอดีตทหารผ่านศึก ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยในหนังสือ "The War on Warriors: Behind the Betrayal of the Men Who Keep Us Free" ของเฮกเซธ ซึ่งตีพิมพ์ในปีนี้ ได้เขียนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระดับผู้บริหารอาวุโสของเพนตากอน
นอกจากนี้ เฮกเซธยังวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งพลอากาศเอก ซี.คิว. บราวน์ โดยกล่าวหาว่าเป็นการแต่งตั้งเพราะบราวน์เป็นคนผิวดำมากกว่าเป็นเพราะความสามารถ แหล่งข่าวคนแรกยืนยันว่าบราวน์จะเป็นหนึ่งในนายทหารที่ถูกปลด พร้อมระบุว่า "ประธานคณะเสนาธิการร่วมและรองประธานทั้งหมดจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในทันที"
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้แสดงความกังวลต่อการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ โดยชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งในยูเครนและตะวันออกกลาง
แม้บางแหล่งข่าวมองว่าการวางแผนดังกล่าวอาจเป็นเพียงการแสดงท่าทีทางการเมือง แต่ผู้สนับสนุนบางส่วนในฝ่ายทรัมป์กลับเชื่อว่าจำเป็นต้องลดขนาดคณะเสนาธิการร่วม เนื่องจากมองว่ามีการใช้อำนาจเกินขอบเขต