สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวในวันอาทิตย์ (17 พ.ย.) ว่า คณะบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ในการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการพลิกผันครั้งสำคัญของนโยบายสหรัฐฯ ที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สองราย และแหล่งข่าวอีกราย ระบุว่า ยูเครนมีแผนจะดำเนินการโจมตีจากระยะไกลครั้งแรกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของปฏิบัติการด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตาม การโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรกนี้ คาดว่าจะใช้ขีปนาวุธยุทธวิธี ATACMS ของสหรัฐฯ ซึ่งมีระยะยิงไกลถึง 306 กิโลเมตร
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นสองเดือนก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. และหลายเดือนหลังจากที่โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขอให้สหรัฐฯ อนุญาตให้กองทัพยูเครนใช้อาวุธจากสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายทางทหารของรัสเซียที่อยู่ไกลจากชายแดนได้
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งระบุว่า สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อตอบโต้การที่เกาหลีเหนือส่งทหารไปประจำการในรัสเซีย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐฯ และยูเครน
"วันนี้ สื่อหลายสำนักรายงานว่าเราได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามความเหมาะสม แต่การโจมตีไม่ได้ทำด้วยคำพูด ไม่ใช่เรื่องที่จะป่าวประกาศ" เซนเลนสกีกล่าวปราศรัยในช่วงค่ำ "ขีปนาวุธจะพูดทุกอย่างเอง"