บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งรวมถึง เมตา (Meta) ติ๊กต๊อก (TikTok) และกูเกิล (Google) วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับกฎหมายของออสเตรเลียในการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ด้านนโยบาย ในขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวให้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาในสัปดาห์นี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ภายใต้กฎหมายที่เสนอดังกล่าวห้ามมิให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีสร้างบัญชีบนโซเชียลมีเดียหลักทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) สแนปแชต (Snapchat) และเรดดิต (Reddit) ไม่ว่าเยาวชนคนนั้นจะได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองหรือมีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งโซเชียลมีเดียต้องเป็นผู้รับความรับผิดชอบต่อการสั่งห้ามครั้งนี้ โดยมีโทษปรับสูงสุด 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (32.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทั้งนี้ รัฐบาลพรรคแรงงานของออสเตรเลียไม่ได้เปิดเผยว่าเทคโนโลยีพิสูจน์อายุผู้ใช้งานจะทำงานอย่างไร แต่มิเชลล์ โรว์แลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารกล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กระบวนการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการอัปโหลดข้อมูลประจำตัวส่วนบุคคล
วุฒิสภาออสเตรเลียกำลังดำเนินการสอบสวนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดจะรายงานให้ทราบภายในวันอังคารนี้ (26 พ.ย.) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านฝ่ายกลาง-ขวา จึงแทบจะเป็นที่แน่นอนว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้
ด้านบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างออกมาเตือนถึงผลกระทบเชิงลบที่นอกเหนือจากที่คาดไว้จากกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ร่างขึ้นอย่างรวดเร็วในเอกสารที่ยื่นต่อวุฒิสภา โดยเอลลา วูดส์-จอยซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะของติ๊กต๊อกแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ระบุว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว "เร่งรีบ" และ "ไม่สามารถปฏิบัติได้" โดยชี้ให้เห็นถึงมาตรการป้องกันความเป็นส่วนตัวที่ย่ำแย่
ขณะที่ทั้งเมตาและกูเกิลระบุว่า ออสเตรเลียควรรอจนกว่าการทดลองใช้เทคโนโลยียืนยันอายุในระดับชาติเสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้