เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์สงคราม โดยปรับเปลี่ยนสายการผลิตและการกระจายสินค้าให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกข่มขู่จากประเทศต่าง ๆ เช่น รัสเซีย และจีน
"หากเราสามารถรับประกันได้ว่าสินค้าและบริการที่สำคัญทั้งหมดจะยังคงส่งถึงมือผู้รับได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นั่นจะเป็นส่วนสำคัญในการป้องปรามภัยคุกคาม" พลเรือเอกร็อบ เบาเออร์ ประธานคณะกรรมการด้านการทหารของนาโตกล่าวที่งานของศูนย์นโยบายยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.)
พลเรือเอกเบาเออร์ย้ำว่า การป้องปรามไม่ได้จำกัดอยู่แค่ขีดความสามารถทางทหารเท่านั้น เนื่องจากในยามสงคราม เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดจะสามารถถูกนำมาใช้
"เราเห็นเหตุการณ์แบบนี้แล้วจากการก่อวินาศกรรมที่เพิ่มขึ้น และยุโรปก็ได้เผชิญกับสถานการณ์นี้ในเรื่องของการจัดส่งพลังงาน" พลเรือเอกบาวเออร์ระบุ
"เราเคยคิดว่าเราทำข้อตกลงกับก๊าซพรอม แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีปูติน และสถานการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานและสินค้าที่จีนเป็นเจ้าของ จริง ๆ แล้วนั้น เราทำข้อตกลงกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง"
พลเรือเอกบาวเออร์ชี้ให้เห็นว่าชาติตะวันตกต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน โดยจีนผลิตแร่หายากถึง 60% ของปริมาณทั้งหมดทั่วโลก และแปรรูปแร่เหล่านี้ถึง 90% พร้อมเสริมว่าส่วนประกอบทางเคมีสำหรับยาระงับประสาท ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ และยารักษาความดันโลหิตต่ำ ก็มาจากจีนเช่นกัน
"เราช่างไร้เดียงสา ถ้าคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะไม่มีวันใช้อำนาจนั้น ผู้นำธุรกิจในยุโรปและสหรัฐฯ จำเป็นต้องตระหนักว่า การตัดสินใจทางการค้าของพวกเขามีผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อความมั่นคงของประเทศ" พลเรือเอกบาวเออร์กล่าว
ทั้งนี้ พลเรือเอกบาวเออร์ระบุเสริมว่า "ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์สงคราม และปรับเปลี่ยนสายการผลิตและการกระจายสินค้าให้สอดคล้องกัน เพราะแม้ว่าทหารอาจจะเป็นผู้ชนะในสนามรบ แต่เศรษฐกิจต่างหากที่เป็นผู้ชนะสงคราม"