แหล่งข่าวระดับสูง 5 รายที่คุ้นเคยกับวงการข่าวกรองสหรัฐฯ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แม้สหรัฐฯ จะอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธอเมริกันโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย และแม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จะส่งสัญญาณแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์กลับไม่ได้เพิ่มขึ้น และยังคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า รัสเซียน่าจะยกระดับการก่อวินาศกรรมในยุโรปเพื่อกดดันชาติตะวันตกที่ให้การสนับสนุนยูเครน
รายงานข่าวกรองตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาชี้ว่า แม้สหรัฐฯ จะผ่อนปรนเรื่องการใช้อาวุธให้กับยูเครน ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการยกระดับไปสู่สงครามนิวเคลียร์ แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า แม้ปธน.โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนท่าทีด้านอาวุธในเดือนนี้ แต่มุมมองดังกล่าวก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
"ผลการประเมินยืนยันตรงกันว่า ขีปนาวุธ ATACM จะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย" เจ้าหน้าที่รัฐสภารายหนึ่งที่ได้รับการบรรยายสรุปด้านข่าวกรองกล่าว โดย ATACM ในที่นี้หมายถึงขีปนาวุธของสหรัฐฯ ที่มีพิสัยการยิงได้ไกลถึง 306 กิโลเมตร
แม้รัสเซียจะยิงขีปนาวุธแบบใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการข่มขู่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ข้อสรุปนี้เปลี่ยนไป
แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แม้สหรัฐฯ ประเมินว่ารัสเซียจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อยกระดับความขัดแย้ง แต่รัสเซียจะพยายามตอบโต้ให้สาสมกับที่เห็นว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายยกระดับก่อน โดยการนำขีปนาวุธแบบใหม่มาใช้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ข่าวกรองมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางการถกเถียงที่แตกแยกในรัฐบาลไบเดนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญคือ การที่สหรัฐฯ จะผ่อนปรนข้อจำกัดให้ยูเครนใช้อาวุธอเมริกันได้นั้น คุ้มค่าพอที่จะเสี่ยงต่อการยั่วโทสะของปธน.ปูตินหรือไม่
ในช่วงแรก เจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ พวกเขากังวลว่าสถานการณ์จะบานปลาย และไม่แน่ใจว่าปธน.ปูตินจะโต้ตอบอย่างไร เจ้าหน้าที่บางส่วนจากทำเนียบขาว กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ หวั่นว่าจะเกิดการตอบโต้รุนแรงต่อบุคลากรทางทหารและทูตสหรัฐฯ รวมถึงการโจมตีพันธมิตรนาโต
ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ กังวลเป็นพิเศษถึงการยกระดับสู่สงครามนิวเคลียร์ แหล่งข่าวระบุว่า ปธน.ไบเดนเปลี่ยนท่าทีเพราะเกาหลีเหนือส่งกำลังเข้าร่วมรบก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่บางรายมองว่า คนวิตกกังวลเรื่องการยกระดับความขัดแย้ง และหวาดกลัวภัยนิวเคลียร์กันเกินเหตุ แต่ก็ยังเน้นย้ำว่าสถานการณ์โดยรวมในยูเครนยังคงอันตราย และโอกาสที่จะลุกลามไปสู่สงครามนิวเคลียร์ก็ยังเป็นไปได้ และที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือความสามารถของรัสเซียในการหาช่องทางลับ ๆ เพื่อโต้กลับชาติตะวันตก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือส่งกำลังทหารเข้าไปมีส่วนร่วมในสงคราม ส่งผลให้คณะผู้บริหาร โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่จากทำเนียบขาวและกระทรวงกลาโหมที่เคยกังวลเรื่องความตึงเครียดที่อาจเพิ่มขึ้นนั้น ยอมอนุมัติให้ยูเครนทำการโจมตีระยะไกลได้
เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวว่า ขณะที่รัสเซียกำลังรุกคืบในสนามรบ การที่เกาหลีเหนือส่งทหารเข้าไปร่วมรบในยูเครนถูกมองว่าเป็นการยั่วยุจากรัสเซียที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องตอบโต้
แหล่งข่าวกรองเชื่อว่า รัสเซียจะตอบโต้อย่างหนักด้วยการก่อวินาศกรรม โดยหน่วยสืบราชการลับรัสเซียได้ทุ่มกำลังครั้งใหญ่ในการปฏิบัติการทั่วยุโรป เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประเทศที่ให้การสนับสนุนยูเครน ตามคำบอกเล่าของนักการทูตยุโรปรายหนึ่ง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่า รัสเซียกำลังเร่งขยายปฏิบัติการใน "พื้นที่สีเทา" เพื่อต่อกรกับชาติตะวันตก โดยได้ส่งสายลับจำนวนมากแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ และกำลังหาช่องทางใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดังกล่าว