สมาชิกสภานิติบัญญัติของจอร์เจียลงมติเลือก มิเคอิล คาเวลาชวิลี อดีตนักฟุตบอลอาชีพ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 ธ.ค.) ปูทางสู่การแทนที่ปธน.คนปัจจุบันที่สนับสนุนชาติตะวันตก ท่ามกลางกระแสประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก หลังการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของจอร์เจียถูกระงับไปเมื่อเดือนก่อน
พรรครัฐบาล "จอร์เจียนดรีม" (Georgian Dream) ตัดสินใจชะลอกระบวนการเข้าร่วม EU ออกไปจนถึงปี 2571 ซึ่งเป็นการเบรกเป้าหมายระดับชาติที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ จุดชนวนความไม่พอใจไปทั่วประเทศจอร์เจีย โดยผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า การเข้าเป็นสมาชิก EU นั้นได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คาเวลาชวิลีมีแนวคิดต่อต้านตะวันตกอย่างรุนแรงและมักเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ในปีนี้ เขากล่าวปราศรัยต่อสาธารณะหลายครั้งโดยกล่าวหาว่า หน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตกพยายามผลักดันให้จอร์เจียทำสงครามกับรัสเซีย ซึ่งเคยปกครองจอร์เจียเป็นเวลา 200 ปีจนถึงปี 2534
ด้านผู้ประท้วงหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมหน้ารัฐสภาทุกคืนเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว บางคนจุดพลุขว้างใส่ตำรวจ ส่วนตำรวจก็ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม
พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคคว่ำบาตรรัฐสภานับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการระบุว่า พรรคจอร์เจียนดรีมได้รับคะแนนเสียงเกือบ 54% แต่ฝ่ายค้านยืนยันว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
เมื่อเดือนที่แล้ว บิดซินา อิวานิชวิลี มหาเศรษฐีอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ได้เสนอชื่อคาเวลาชวิลีให้ดำรงตำแหน่งปธน. ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ โดยอิวานิชวิลีได้เดินหน้ากระชับสัมพันธ์กับรัสเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่ชาวจอร์เจียจำนวนมากไม่ชอบ
ทั้งนี้ คาเวลาชวิลีเป็นผู้นำพรรคพลังประชาชน (People's Power) ซึ่งเป็นกลุ่มแตกหน่อออกมาจากพรรครัฐบาลที่มีจุดยืนต่อต้านตะวันตก เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมาย "ตัวแทนต่างชาติ" ซึ่งบังคับให้องค์กรที่รับทุนจากต่างประเทศเกิน 20% ต้องจดทะเบียนในฐานะผู้อยู่ใต้อิทธิพลต่างชาติ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินมหาศาล
ซาลอเม ซูราบิชวีลี ปธน.จอร์เจียคนปัจจุบันที่หนุนหลัง EU และไม่ลงรอยกับพรรครัฐบาลจอร์เจียนดรีมนั้น ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำการประท้วง พร้อมประกาศว่าจะไม่ยอมพ้นจากตำแหน่งแม้หมดวาระ โดยอ้างว่ารัฐสภาชุดนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีข้อครหาเรื่องโกงเลือกตั้งในเดือนต.ค.
ก่อนการลงคะแนน ซูราบิชวีลีโพสต์ข้อความบนเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า การเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งครั้งนี้เป็นเพียง "การล้อเลียนประชาธิปไตย"
พรรคฝ่ายค้านประกาศว่าจะยังคงถือว่าซูราบิชวีลีเป็นปธน.ที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แม้คาเวลาชวิลีจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ก็ตาม
ระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการลงคะแนน นายกฯ อิรักลี โคบาคิดเซ กล่าวแสดงความยินดีกับคาเวลาชวิลี พร้อมกับเรียกปธน.ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งว่าเป็น "สายลับ" ของชาติมหาอำนาจ