อิสราเอลเห็นชอบเพิ่มจำนวนประชากรในที่ราบสูงโกลันเป็นสองเท่า โดยชี้ถึงภัยคุกคามจากซีเรียที่ยังคงอยู่ แม้ว่าเหล่าผู้นำกบฏที่ขับไล่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด พ้นจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้แสดงท่าทีรุนแรงก็ตาม
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวในแถลงการณ์ว่า "การเสริมแกร่งโกลันคือการเสริมแกร่งรัฐอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ เราจะยึดครองไว้ให้มั่น ทำให้เฟื่องฟู และตั้งถิ่นฐานที่นั่น"
อิสราเอลยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันจากซีเรียนับตั้งแต่สงครามหกวัน (Six-Day War) เมื่อปี 2510 และผนวกรวมเข้าเป็นดินแดนของตนเองในปี 2524
เนทันยาฮูยืนยันว่า "เราไม่สนใจความขัดแย้งในซีเรีย" และเสริมว่า ความเคลื่อนไหวของอิสราเอลในซีเรียมีจุดมุ่งหมายเพื่อ "สกัดกั้นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากซีเรีย และป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายเข้ายึดครองใกล้ชายแดนของเราได้"
สำนักนายกรัฐมาตรีอิสราเอลเปิดเผยว่า รัฐบาลมีมติเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติแผนเพิ่มจำนวนประชากรในโกลัน วงเงินกว่า 40 ล้านเชคเกล (11 ล้านดอลลาร์) โดยระบุว่า เนทันยาฮูได้เสนอแผนดังกล่าวต่อรัฐบาล สืบเนื่องจากสงครามและแนวรบใหม่ที่ติดกับซีเรีย ตลอดจนความต้องการที่จะเพิ่มจำนวนประชากรในโกลันเป็นเท่าตัว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในปี 2562 โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ ในขณะนั้น ประกาศว่า สหรัฐฯ สนับสนุนอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือดินแดนโกลัน แต่การผนวกดินแดนดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศส่วนใหญ่ โดยซีเรียเรียกร้องให้อิสราเอลถอนทัพแต่อิสราเอลปฏิเสธโดยอ้างถึงความกังวลด้านความมั่นคง ขณะที่ความพยายามสร้างสันติภาพล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประณามการตัดสินใจของอิสราเอล โดย UAE ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็น "ความพยายามในการขยายการยึดครองโดยเจตนา"