แผนการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบเป็นหนึ่งในวาระที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประเทศไทย ในวันนี้ (19 ธ.ค.) จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว 3 ราย
สัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเมียนมา 2 งาน โดยวันพฤหัสบดีที่ 19 ธ.ค. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย จะเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย ที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน โดยเน้นปัญหาความมั่นคงชายแดน และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะขบวนการค้ายาเสพติดและหลอกลวงออนไลน์
จากนั้นในวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. จะเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบขยาย (Extended Informal Consultation) ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่มาเลเซียเตรียมรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ต่อจากสปป.ลาว ประธานอาเซียนปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา อาเซียนไม่สามารถผลักดันแผนสันติภาพให้เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมานั้นได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เมียนมาอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เมื่อกองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมเดินหน้าปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดการต่อสู้จากกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ถูกโจมตีจากหลายแนวรบ เผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำ และพรรคการเมืองหลายสิบพรรคถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง แต่รัฐบาลทหารยังคงผลักดันให้มีการเลือกตั้งในปี 2568 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการหลอกลวง
แหล่งข่าวในแวดวงการทูตซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว เผยว่า แผนจัดการเลือกตั้งดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในวันนี้ โดยมีนายตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ เข้าร่วมด้วย
"เมียนมาต้องการนำการเลือกตั้งมาทำการตลาด" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว "พวกเขาต้องการความชอบธรรม"
จีน ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร แสดงการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาและการจัดการเลือกตั้งในปี 2568 ในขณะที่ผู้นำของไทยเรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นกับรัฐบาลเมียนมาก่อนจัดการเลือกตั้งตามแผนที่วางไว้