ทาเทียนา บุตสกายา รองประธานคณะกรรมาธิการครอบครัว สตรี และเด็กของรัฐสภารัสเซีย กล่าวว่า หญิงชาวรัสเซียควรมีลูกก่อนอายุ 35 ปี โดยอ้างว่าทารกในครรภ์อาจเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมหากมารดาตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่านี้
บุตสกายายอมรับว่าการแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างมากในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม โดยปัจจุบันแพทย์สามารถสแกนและวิเคราะห์ไข่และตัวอ่อน รวมถึงทำการผ่าตัดมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม บุตสกายาเน้นย้ำว่าจะดีกว่าหากผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมทางชีวภาพมากกว่า
สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า อัตราเกิดของเด็ก 1.4 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนถือเป็นระดับที่ต่ำมาก และเป็นหายนะสำหรับอนาคตของประเทศ
เมื่อเดือนก.พ. สำนักงานสถิติแห่งชาติของรัสเซีย (Rosstat) เปิดเผยว่า อัตราการเกิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อปีที่แล้วมีเด็กเกิดในรัสเซียเพียง 1.2 ล้านคน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2542
อัตราเกิดในรัสเซียกลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับสภานิติบัญญัติ ส่งผลให้ต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขต่าง ๆ ตั้งแต่มาตรการลดหย่อนภาษีไปจนถึงมาตรการควบคุมการทำแท้ง
ทั้งนี้ มีการเสนอให้รื้อฟื้นการเรียกเก็บ "ภาษีการไม่มีบุตร" ซึ่งเคยใช้ในสมัยสหภาพโซเวียต รวมถึงการห้ามทำแท้ง แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รัฐสภารัสเซียได้ผ่านกฎหมายเพื่อลงโทษ "อุดมการณ์ไม่มีบุตร" และ "การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม LGBT" ซึ่งถือว่าขัดต่อการสร้างครอบครัวและค่านิยม