ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร สั่งให้พนักงานรัฐบาลกลางกลับเข้าทำงานที่สำนักงาน 5 วันต่อสัปดาห์ มีผลบังคับใช้ทันที ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้สนับสนุนที่สนามแคปิตอล วัน อารีนา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำสั่งนี้จะยกเลิกนโยบายการทำงานทางไกล (Remote work) ที่แพร่หลายในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พนักงานรัฐจำนวนมากต้องกลับมาทำงานที่สำนักงานตามปกติ
นอกจากคำสั่งให้กลับไปทำงานแล้ว ทรัมป์ยังประกาศระงับการจ้างงานใหม่ และจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือ Department of Government Efficiency (DOGE) ซึ่งมีอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างและลดขนาดของรัฐบาลกลาง
บุคคลใกล้ชิดทรัมป์เผยว่า คำสั่งนี้มีเป้าหมายเพื่อล้างบางข้าราชการพลเรือน เปิดทางให้ทรัมป์สามารถแต่งตั้งผู้ที่จงรักภักดีต่อตนเองเข้ารับตำแหน่งแทนได้ง่ายขึ้น อีลอน มัสก์ เองก็เคยเปรยว่า การยกเลิกสิทธิ์ทำงานทางไกลจะนำไปสู่ "การสมัครใจลาออกครั้งใหญ่ ซึ่งเราก็ยินดี"
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พนักงานรัฐทุกคนที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากประมาณ 1 ใน 4 ของพนักงานรัฐเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และมีข้อตกลงที่อนุญาตให้ทำงานทางไกลหรือแบบผสมผสานได้ แต่รัสเซล วอห์ต ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการทบทวนข้อตกลงเหล่านี้ โดยกล่าวว่าข้อตกลงที่ทำในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน นั้น "น่ากังวล และเรากำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด"
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันมักวิจารณ์พนักงานรัฐว่าเป็น "พวกข้าราชการขี้เกียจ" แต่ภายใต้แนวคิด "ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง" หรือ Make America Great Again (MAGA) ของทรัมป์ ข้อวิจารณ์นี้รุนแรงขึ้นมาก ถึงขนาดที่ทรัมป์เคยเรียกพนักงานรัฐว่า "ขี้โกง" และ "ไม่ซื่อสัตย์"
นิโคลัส บลูม ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มองว่า นโยบายนี้เอาใจฐานเสียงของ MAGA เพราะ "พนักงานที่ Work from Home มักมีการศึกษาสูง"
แม้ทรัมป์และพรรครีพับลิกันจะอ้างว่าการทำงานทางไกลแพร่หลายในหมู่พนักงานรัฐ แต่ข้อมูลจากสำนักงานบริหารและงบประมาณของทำเนียบขาวเมื่อเดือนส.ค.ชี้ว่า มีพนักงานเพียง 46% หรือประมาณ 1.1 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ทำงานทางไกล และมีเพียง 228,000 คนเท่านั้นที่ทำงานทางไกลเต็มรูปแบบ
สหพันธ์พนักงานรัฐบาลอเมริกัน (AFGE) ออกมาโต้แย้งว่า การทำงานแบบผสมผสานเป็น "เครื่องมือสำคัญ" ในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ และเตือนว่าการจำกัดการทำงานรูปแบบนี้จะทำให้หน่วยงานรัฐหาคนเก่ง ๆ มาทำงานได้ยากขึ้น
ศ.บลูมคาดการณ์ว่า นโยบายนี้จะนำไปสู่การฟ้องร้อง การไล่ออก และการลาออกจำนวนมาก ส่งผลให้คุณภาพการบริการของรัฐแย่ลง และอาจกระทบต่อบริการที่สำคัญ เช่น ความปลอดภัย และสวัสดิการสังคม
"ผมคิดว่าคงจะมีปัญหาตามมาอีกเยอะ และบริการของรัฐคงจะเละเทะกันไปหมด ? ใครที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานรัฐช่วงนี้ก็ขอให้พระเจ้าคุ้มครองแล้วกัน" ศ.บลูมกล่าว