ครอบครัวชาวจีนร่วมกันรวบรวมรายชื่อญาติที่ถูกหลอกไปทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาเกือบ 1,800 ราย กดดันให้ทางการจีนเร่งช่วยเหลือ หลังกรณีนักแสดงหนุ่มชาวจีน "หวัง ซิง" ถูกลักพาตัวและได้รับการช่วยเหลือจนกลายเป็นกระแสไวรัลบนโซเชียลมีเดีย ด้านจีนประกาศร่วมมือกับไทยและเมียนมาเพื่อปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (22 ม.ค.) ว่า เกิดกระแสไวรัลบนโซเชียลมีเดียจีน กรณีหวัง ซิง นักแสดงหนุ่มวัย 22 ปี ถูกหลอกมาทำงานถ่ายทำภาพยนตร์ที่ไทยเมื่อต้นเดือนนี้ ก่อนถูกลักพาตัวไปยังศูนย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา จุดประกายให้ครอบครัวชาวจีนอื่น ๆ ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวญาติที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
หวังบินมากรุงเทพฯ หลังได้รับข้อเสนองานแสดงที่เขาคิดว่า "ดีเกินจริง" โดยไม่รู้ว่าเป็นกับดักของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เขาถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์สแกมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เช่นเดียวกับชายจีนอีกหลายร้อยคนที่ตกเป็นเหยื่อ
เจียเจีย แฟนสาวของหวัง ได้เผยแพร่เรื่องราวการลักพาตัวและรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียจนได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม รวมถึงจากคนดังในจีน เมื่อหวังได้รับการช่วยเหลือโดยตำรวจไทยในวันที่ 7 ม.ค. ครอบครัวของเหยื่อรายอื่น ๆ จึงเริ่มโพสต์เรื่องราวของตนเอง โดยหวังว่าจะได้รับความสนใจในวงกว้างบ้าง
ภายในไม่กี่วัน เกิดการรวบรวมรายชื่อชาวจีนเกือบ 1,800 คน ที่ครอบครัวอ้างว่าถูกค้ามนุษย์ไปยังเมียนมาผ่านชายแดนจีนและไทย ศูนย์เหล่านี้ ซึ่งมักปฏิบัติต่อคนงานอย่างโหดร้าย แพร่กระจายมากขึ้นในเมียนมา ท่ามกลางความวุ่นวายและสงครามกลางเมืองหลังการรัฐประหารปี 2564
สหประชาชาติระบุว่า มีผู้คนหลายแสนคนถูกค้ามนุษย์ไปยังศูนย์สแกมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจนี้สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับกลุ่มอาชญากรรม ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากจีน
รายชื่อดังกล่าว ซึ่งผู้จัดทำได้ส่งมอบให้กับทางการจีนแล้วนั้น กลายเป็นข้อมูลที่ละเอียดที่สุดเกี่ยวกับเหยื่อชาวจีนของแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้
กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (17 ม.ค.) ระบุว่ากำลัง "พยายามอย่างเต็มที่" เพื่อปราบปรามศูนย์สแกมและช่วยเหลือผู้ที่ถูกค้ามนุษย์ ต่อมาในวันอังคาร (21 ม.ค.) สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า จีนบรรลุข้อตกลงกับไทยและเมียนมาในการจับกุมผู้นำแก๊งและกำจัดศูนย์สแกม
ก่อนหน้านี้ ในปี 2566 จีนได้ดำเนินการปราบปรามศูนย์ฉ้อโกงในเมียนมา ส่งผลให้มีการจับกุมชาวจีนหลายหมื่นคนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์ชี้ว่า จีนมักมองผู้ถูกค้ามนุษย์เป็นผู้ต้องสงสัยมากกว่าเหยื่อ
มินา เจียง ผู้ก่อตั้งกลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์ Humanity Research Consultancy กล่าวว่า "การจะทราบจำนวนที่แน่ชัดของชาวจีนที่ถูกค้ามนุษย์ไปยังศูนย์สแกมนั้นเป็นเรื่องยาก"
รอยเตอร์ได้พูดคุยกับครอบครัวของเหยื่อ 4 ราย จากแคมเปญ "Star Homecoming" (ตั้งตามชื่อของหวัง ซิง ที่แปลว่าดวงดาว) ซึ่งรวบรวมข้อมูลของเหยื่อได้เกือบ 1,800 คน โดย 93% เป็นผู้ชาย อายุเฉลี่ย 27 ปี ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 15-45 ปี เหยื่อหลายคนเล่าถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เช่น การเป็นหนี้สิน การดิ้นรนหางาน และการตกงาน ทำให้พวกเขาตอบรับข้อเสนองานจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
การวิเคราะห์ของรอยเตอร์พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของครอบครัวไม่สามารถแจ้งความคนหายกับตำรวจท้องที่ได้ เนื่องจากกฎหมายจีนไม่ถือว่าผู้ชายเป็นเหยื่อที่อาจเกิดขึ้นจากการค้ามนุษย์
ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งสามีวัย 30 ปี หายตัวไปหลังรับข้อเสนองานสแกมเพราะต้องการใช้หนี้ กล่าวว่า "ตอนแรกฉันอยากแจ้งความ แต่พวกเขาบอกว่ารับแจ้งความคนหายเฉพาะที่เป็นผู้หญิงกับเด็กเท่านั้น"
ภรรยาของช่างไฟฟ้าวัย 22 ปี ที่หายตัวไปอีกราย เล่าว่า ตำรวจจีนบอกเธอว่าไม่สามารถรับแจ้งความได้ เพราะสามีเดินทางด้วยหนังสือเดินทางของตนเอง
ครอบครัวของเหยื่อหลายรายหวังว่า ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในกรณีของหวัง ซิง จะกดดันให้รัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์กลับบ้าน