นักวิชาการชาวแคนาดาชี้ การตัดเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กำแพงภาษี และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นบททดสอบอีกครั้งสำหรับอาเซียน
บาร์ต เอเดส์ ศาสตราจารย์ปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ และนักวิจัยเกียรติคุณจากมูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา ให้สัมภาษณ์กับรายการพอดแคสต์ Beyond the Mekong ของนิตยสารเดอะดิโพลแมต เกี่ยวกับความท้าทายที่คาดว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และ 10 ชาติสมาชิกอาจจะต้องเผชิญภายใต้นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลชุดเดิมอย่างสิ้นเชิง
นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวเมื่อสองสัปดาห์ก่อน รัฐบาลของทรัมป์ได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่เหนือความคาดหมายสักเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นการตัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในต่างประเทศขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ขึ้นภาษีศุลกากรกับคู่ค้ารายใหญ่ และประกาศข้อเรียกร้องหลายข้อเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม ปธน.ทรัมป์ประกาศระงับการช่วยเหลือต่างประเทศทั้งหมดของ USAID เป็นเวลา 90 วัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม ซึ่งการระงับการให้เงินทุนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ มากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมา
เอเดส์กล่าวว่า การตัดเงินช่วยเหลือของ USAID บีบให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องควักเงินจากกระเป๋าตัวเองเพื่อดำเนินโครงการด้านมนุษยธรรมต่อไป เช่น โครงการกำจัดทุ่นระเบิด บริการสุขภาพสำหรับผู้ลี้ภัย และการศึกษา เป็นต้น
นอกจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังจะได้รับผลกระทบในเรื่องอื่น ๆ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดการหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
"ประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของโลกจะต้องปรับตัวให้คุ้นชินกับความจริงที่ว่าทรัมป์เอาจริงกับการนำภาคการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐฯ" เขากล่าว
ขณะเดียวกัน ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ ส่วนการสู้รบในเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาอาเซียนไม่สามารถยื่นมือเข้าไปจัดการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ก็อาจเป็นที่สนใจเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับรัฐบาลจีน และโอกาสที่จีนจะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค
ส่วนคำถามที่ว่า ประเทศเล็กและพัฒนาน้อยกว่า เช่น กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น นักวิชาการมองว่า ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านี้กับปักกิ่ง ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกกันมากขึ้นในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน