สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนจะเหลือพนักงานขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ไว้ไม่ถึง 300 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่า 10,000 คนทั่วโลก
หน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลักของสหรัฐฯ แห่งนี้ กำลังถูกปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยมีอีลอน มัสก์ นักธุรกิจพันธมิตรคนสนิทของทรัมป์เป็นแกนนำ นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.
แหล่งข่าวระบุว่า จะมีพนักงาน USAID เพียง 294 คนเท่านั้นที่จะได้ทำงานต่อ โดยในจำนวนนี้มีแค่ 12 คนที่อยู่ในสำนักงานแอฟริกา และ 8 คนในสำนักงานเอเชีย
"เรื่องนี้มันเกินไปแล้ว" เจ. ไบรอัน แอตวูด อดีตหัวหน้า USAID ที่ทำงานมานานกว่า 6 ปีกล่าว พร้อมเสริมว่า การปลดคนงานจำนวนมหาศาลครั้งนี้จะทำลายหน่วยงานที่เคยช่วยชีวิตคนนับสิบล้านทั่วโลกอย่างราบคาบ
"คนจำนวนมากไม่รอดแน่" แอตวูด ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันวัตสันแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าว
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์และมัสก์ออกมากล่าวหาว่าพนักงาน USAID เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย ส่งผลให้พนักงานหลายสิบคนถูกพักงาน ผู้รับเหมาภายในหลายร้อยคนถูกเลย์ออฟ และโครงการช่วยเหลือชีวิตผู้คนทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง
ทั้งนี้ แผนของรัฐบาลคือการควบรวม USAID เข้ากับกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารชั่วคราวของ USAID เป็นผู้นำ แต่การควบรวมอาจไม่สามารถทำได้หากไม่ผ่านการลงมติจากรัฐสภา เพราะ USAID จัดตั้งขึ้นและได้รับงบประมาณตามกฎหมายที่ยังมีผลอยู่
ตามข้อมูลจาก Congressional Research Service (CRS) USAID มีพนักงานกว่าหมื่นคนทั่วโลก โดยราว 2 ใน 3 อยู่นอกสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูลสมบูรณ์ USAID บริหารงบประมาณมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์
เว็บไซต์ USAID แจ้งว่า ตั้งแต่เที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 7 ก.พ. พนักงานประจำทั้งหมดจะถูกพักงานทั่วโลก ยกเว้นผู้ที่ทำงานสำคัญ ผู้บริหารหลัก และผู้ที่อยู่ในโครงการพิเศษ ส่วนพนักงานที่จะได้ทำงานต่อจะได้รับแจ้งภายในวันพฤหัสบดี เวลา 15:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (03:00 น. ของวันศุกร์ ตามเวลาไทย)
ในปี 2566 USAID ให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ราว 130 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความยากจนขั้นรุนแรง โดยประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดตามรายงานของ CRS ได้แก่ ยูเครน เอธิโอเปีย จอร์แดน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โซมาเลีย เยเมน และอัฟกานิสถาน