อีลอน มัสก์ ผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาที่จะตรวจสอบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังจากที่เคยเรียกร้องมาแล้วในอดีต โดยมัสก์แสดงความเห็นดังกล่าวในระหว่างการประชุม Conservative Political Action Conference (CPAC) ที่เนชันแนลฮาร์เบอร์ รัฐแมริแลนด์ เมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โครงการปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งดำเนินการภายใต้ DOGE นั้น ได้ขยายวงไปทั่วหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในเดือนที่แล้ว
ทางด้านเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวว่า เขามองว่า "การตรวจสอบเฟด" ที่นำเสนอโดยมัสก์นั้น ถือเป็นเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การ "กำจัด" ธนาคารกลาง
มัสก์ ซึ่งเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกและเป็นที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลของปธน.ทรัมป์ ทำให้การถกเถียงกันมานานหลายสิบปีเกี่ยวกับการกำกับดูแลเฟดกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในสัปดาห์นี้ โดยเขาได้โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเฟด ก่อนที่พาวเวลจะแถลงต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้
สำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภาสหรัฐฯ (Government Accountability Office - GAO) ดำเนินการตรวจสอบกิจกรรมของเฟดอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม GAO ไม่ได้ตรวจสอบการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของเฟด
ทั้งนี้ มัสก์กำลังรื้อฟื้นแนวคิดที่ริเริ่มโดยรอน พอล ซึ่งเป็นผู้ที่มัสก์กล่าวว่าอาจสามารถใช้วิธีการตรวจสอบรูปแบบใหม่ได้ โดยในช่วงที่พอลดำรงตำแหน่งในสภาคองเกรสนั้น เขาได้มุ่งเป้าไปที่เฟดผ่านหลายช่องทาง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อที่จะดูว่าการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินถูกทำขึ้นอย่างไร
"สิ่งที่จะเป็นภัยคุกคามก็คือ...คุณตรวจสอบมติเกี่ยวกับนโยบายการเงิน และผมคิดว่าที่ผู้ออกแบบการตรวจสอบนี้ ตั้งใจที่จะทำให้เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่การกำจัดเฟด" พาวเวลกล่าว
พาวเวลกล่าวว่า เฟดต้องกำหนดนโยบายการเงินโดยปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมือง เนื่องจากประธานาธิบดีอาจถูกโน้มน้าวให้กดดันเฟดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ การดำเนินการดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่พวกเขาอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้น แต่จะเพิ่มความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะยาว