ตุรกีจับกุมผู้ประท้วงเกือบ 1,900 คน เซ่นปมคุมขังนายกฯอิสตันบูล

ข่าวต่างประเทศ Friday March 28, 2025 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลตุรกีแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (27 มี.ค.) ปฏิเสธแถลงการณ์ "ที่มีอคติ" จากต่างประเทศ กรณีการจับกุม เอแกรม อีมาโมลู นายกเทศมนตรีนครอิสตันบูล และการประท้วงที่ตามมา หลังจากมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปแล้วเกือบ 1,900 คน ตลอด 8 วันของการประท้วงทั่วประเทศ

ความกังวลเรื่องเสรีภาพสื่อทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสถานีข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่า มาร์ค โลเวน ผู้สื่อข่าวของตน ถูกเนรเทศออกจากตุรกีหลังจากถูกควบคุมตัวที่โรงแรมในอิสตันบูลขณะทำข่าว โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า เขาเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากการควบคุมตัวและปล่อยตัวนักข่าวท้องถิ่น 7 คนก่อนหน้านี้

อีมาโมลูซึ่งถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน และมีคะแนนนำในผลสำรวจบางสำนัก ได้ถูกศาลสั่งจำคุกเมื่อวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) เพื่อรอการพิจารณาคดีในข้อหาทุจริต โดยการจับกุมครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้เขาถูกปลดจากตำแหน่งด้วยนั้น จุดชนวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ และนำไปสู่การจับกุมผู้คนจำนวนมากทั่วประเทศ

พรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรครีพับลิกันพีเพิล (CHP) ของอีมาโมลู รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และชาติตะวันตก ต่างมองว่า คดีนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อกำจัดคู่แข่งคนสำคัญของปธน.เออร์โดกันก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตุรกีปฏิเสธว่า ไม่มีอิทธิพลเหนือฝ่ายตุลาการ และยืนยันว่าศาลทำงานอย่างเป็นอิสระ

ยิลมาซ ตุนช์ รัฐมนตรียุติธรรมตุรกีพูดแก้ต่างให้การจับกุมครั้งนี้กับสื่อต่างประเทศในอิสตันบูล โดยระบุว่าได้ขอให้พันธมิตรยุโรปใช้สามัญสำนึก และเสริมว่าความร้ายแรงของข้อกล่าวหาต่ออีมาโมลู รวมถึงความเสี่ยงที่พยานหลักฐานอาจถูกปกปิด ทำให้การตัดสินใจของฝ่ายตุลาการสมเหตุสมผล

ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวหารัฐบาลตุรกีว่ากำลังโจมตีเสรีภาพอย่างเป็นระบบ พร้อมเรียกร้องให้ตุรกีเดินหน้าบนเส้นทางประชาธิปไตยโดยเคารพพันธสัญญาที่ให้ไว้เพื่อความมั่นคงของยุโรป

พรรค CHP เรียกร้องให้ชาวตุรกีเดินหน้าประท้วงต่อไป และประกาศจะจัดกิจกรรมชุมนุมในหลายพื้นที่ ขณะที่ปธน.เออร์โดกันกล่าวว่า การประท้วงเป็นเพียงการแสดง และเตือนว่าผู้ประท้วงอาจต้องเผชิญผลทางกฎหมาย

อาลี เยอร์ลิกายา รัฐมนตรีมหาดไทยเปิดเผยตัวเลขผู้ถูกควบคุมตัว 1,879 คน นับตั้งแต่การประท้วงปะทุขึ้นเมื่อวันพุธที่ 19 มี.ค. โดยศาลสั่งจำคุก 260 คนระหว่างรอการพิจารณาคดี, ปล่อยตัว 489 คน และอีก 662 คนยังอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ มีตำรวจบาดเจ็บ 150 นาย

กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ตุรกีสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจในการสลายการชุมนุม และเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้มีการประท้วง ขณะที่ผู้นำชาติตะวันตกบางส่วนมองว่า กรณีนี้สะท้อนถึงภาวะถดถอยด้านประชาธิปไตย

เมื่อถูกถามถึงการควบคุมตัวนักข่าวชั่วคราว รัฐมนตรียุติธรรมตุนช์ปฏิเสธว่าตุรกีไม่ได้จำคุกนักข่าว และมองว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขายังไม่ยอมรับอันดับเสรีภาพสื่อปี 2567 ขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ที่จัดให้ตุรกีอยู่ที่อันดับ 158 จาก 180 ประเทศ โดย RSF ระบุว่า สื่อราว 90% อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาล

ทั้งนี้ การควบคุมตัวอีมาโมลูเมื่อวันที่ 19 มี.ค. เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งประกาศเพิกถอนวุฒิการศึกษาของเขาซึ่งจำเป็นสำหรับการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเพียงไม่กี่วันก่อนที่อีมาโมลูจะได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการจากพรรค CHP ให้เป็นตัวแทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อวันพุธ สภาเทศบาลนครอิสตันบูลซึ่งฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากได้เลือก นูรี อัสลาน จากพรรค CHP เป็นนายกเทศมนตรีรักษาการ เพื่อบริหารเมืองไปจนครบวาระของอีมาโมลู ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลกลางแต่งตั้งผู้ดูแล (trustee) เข้ามาบริหารแทน

ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลวิทยุและโทรทัศน์ของตุรกี (RTUK) ได้สั่งลงโทษสถานีโทรทัศน์ฝ่ายค้าน 4 ช่อง เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวกรณีอีมาโมลู โดยกล่าวหาว่ายุยงให้เกิดความเกลียดชังและความเป็นปรปักษ์ โดยสถานี SZC TV ถูกสั่งพักการออกอากาศ 10 วัน และถูกเตือนว่าหากผิดซ้ำครั้งที่ 3 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนช่องอื่น ๆ ถูกปรับเงินและสั่งระงับบางรายการ

นับตั้งแต่การควบคุมตัวอีมาโมลู ตลาดการเงินของตุรกีผันผวนอย่างหนัก ทำให้ธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซงโดยใช้เงินทุนสำรองเพื่อพยุงค่าเงินลีรา ขณะที่รัฐบาลระบุว่าผลกระทบจะจำกัดและเป็นเพียงชั่วคราว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ