ทรัมป์ชี้สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นไม่เป็นธรรม, ค้านดีล "นิปปอน สตีล"

ข่าวต่างประเทศ Friday April 11, 2025 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กล่าวย้ำความเห็นของเขาที่ว่า สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นที่มีมานานหลายทศวรรษนั้นไม่เป็นธรรม ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นในขณะที่สองประเทศเตรียมเปิดฉากเจรจาต่อรองข้อตกลงการค้าและภาษีศุลกากร

"เราทุ่มงบประมาณมหาศาลหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องพวกเขา แต่...พวกเขากลับไม่ต้องจ่ายอะไรเลย" ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) "หากเราถูกโจมตี พวกเขาไม่ต้องทำอะไรเลยเพื่อปกป้องเรา" ทรัมป์กล่าว พร้อมเหน็บแนมว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็น "ข้อตกลงวิเศษ"

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แม้ทรัมป์เคยแสดงท่าทีเช่นนี้มาก่อน แต่การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงทิศทางการเจรจาการค้าที่กำลังจะมาถึงระหว่างสองประเทศ โดยมีรายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาส่งคณะผู้แทนเจรจาไปยังสหรัฐฯ อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า ซึ่งแหล่งข่าวใกล้ชิดเผยว่า หากเป็นไปตามแผน เรียวเซ อาคาซาวะ รัฐมนตรีฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น จะเข้าพบกับสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ สำหรับการพูดคุยกับญี่ปุ่น

ทรัมป์กล่าวว่า เขาไม่ได้ต้องการตำหนิจีนหรือประเทศใดเป็นพิเศษ แต่กลับชี้ว่าเป็นความผิดของผู้นำสหรัฐฯ ในอดีตที่ปล่อยให้ประเทศต้องเผชิญกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม

"ผมแค่สงสัยว่าใครเป็นคนทำข้อตกลงนี้ขึ้นมา คนพวกนั้นคงไม่รักชาติหรือไม่ก็ไม่ใส่ใจเลย" ทรัมป์กล่าวถึงสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น "มันยากจะเชื่อว่าข้อตกลงมันแย่ได้ขนาดนี้ นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของข้อตกลงป้องกันประเทศ แต่เรื่องข้อตกลงการค้าก็ไม่ต่างกัน"

รัฐบาลทรัมป์ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ในการเจรจาการค้าครั้งใหม่ในกลุ่มประเทศพันธมิตรที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นอกเหนือจากประเด็นการค้าและภาษีแล้ว รัฐบาลทรัมป์ยังส่งสัญญาณว่าต้องการจัดการกับปัญหาอื่น ๆ ที่ค้างคากับพันธมิตรสำคัญอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็เป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ และอยู่ภายใต้หลักประกันความมั่นคงจากสหรัฐฯ เช่นกัน

ทั้งนี้ สนธิสัญญาฉบับแก้ไข ซึ่งลงนามเมื่อปี 2503 อนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในญี่ปุ่น และให้คำมั่นว่าจะเข้าช่วยเหลือปกป้องญี่ปุ่น หากพันธมิตรในเอเชียรายนี้ถูกรุกราน โดยสหรัฐฯ มีทหารประจำการในญี่ปุ่นกว่า 50,000 นาย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากกว่าในประเทศอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ มีฐานทัพอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบัน ญี่ปุ่นสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับกองกำลังสหรัฐฯ ที่ประจำการในประเทศ เป็นมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์เคยกดดันญี่ปุ่นให้เพิ่มงบประมาณกลาโหมและค่าสนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ มาแล้ว

*ทรัมป์ย้ำจุดยืนค้านดีล "นิปปอน สตีล" ซื้อ "ยูเอส สตีล"*

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ข้อเสนอของบริษัท นิปปอน สตีล (Nippon Steel Corp.) ของญี่ปุ่น มูลค่า 1.41 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการเข้าซื้อกิจการยูเอส สตีล (United States Steel Corp.) ถูกระงับไปก่อนหน้านี้

ทรัมป์ส่งสัญญาณชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เขาไม่ต้องการให้ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นเข้าครอบครองกิจการผู้ผลิตเหล็กกล้าสัญชาติอเมริกันระดับตำนาน แม้บริษัทกำลังประสบปัญหาก็ตาม

"เรารักญี่ปุ่น แต่การจะปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อแบรนด์ยูเอส สตีล อันเป็นที่ภาคภูมิใจของเรานั้น เป็นเรื่องที่ผมทำใจได้ยาก ดังนั้น อย่างที่ทราบกัน ผมได้ปฏิเสธข้อตกลงนั้นไปแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขากลับมาใหม่ในฐานะนักลงทุน" ทรัมป์กล่าว

ทรัมป์แสดงความเชื่อมั่นว่า ยูเอส สตีล จะสามารถพลิกฟื้นกิจการได้ด้วยตนเอง โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการทางภาษีที่เขาบังคับใช้ตั้งแต่กลับเข้ารับตำแหน่งเมื่อเกือบ 3 เดือนก่อน

ท่าทีคัดค้านที่ชัดเจนที่สุดของทรัมป์ต่อดีลนี้ มีขึ้นหลังจากที่เขาสั่งการให้คณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ (CFIUS) ทบทวนแผนการซื้อกิจการดังกล่าวอีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์นี้

ในบันทึกคำสั่งประธานาธิบดีที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) ทรัมป์ระบุว่า การทบทวนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เขา "ตัดสินใจว่าควรมีการดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องนี้หรือไม่" พร้อมสั่งการให้ CFIUS เสนอรายงานข้อเสนอแนะภายใน 45 วัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนม.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนก่อนของสหรัฐฯ ได้สั่งระงับข้อตกลงซื้อขายดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ตามข้อเสนอแนะของ CFIUS


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ