ทูตสหรัฐฯ เข้าพบอิชิบะ มองบวกเจรจาภาษีญี่ปุ่นรอบใหม่ ชี้สัมพันธ์ 2 ชาติอยู่ในยุคทอง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 22, 2025 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จอร์จ กลาส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นคนใหม่แสดงความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อการเจรจาภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กำลังจะมีขึ้นรอบใหม่ในปลายเดือนนี้ ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังการเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น

กลาส ซึ่งเป็นนักธุรกิจจากรัฐโอเรกอนผู้มีประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจและอสังหาริมทรัพย์ และเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการพบปะอิชิบะที่ทำเนียบนายกฯ ในวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังอยู่ใน "ยุคทอง" ทั้งในด้านเศรษฐกิจและมิตรภาพ

อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำโปรตุเกสในช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรก (วาระปี 2560-2564) ผู้นี้ ย้ำว่า ขณะนี้บุคลากรระดับหัวกะทิของทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกำลังร่วมกันหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมความร่วมมืออย่างแข็งขัน ทำให้เขา "มองโลกในแง่ดีอย่างยิ่ง" ต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายจากนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First) ของปธน.ทรัมป์ ซึ่งได้นำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม และการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 24% กับสินค้าญี่ปุ่น (แม้ภาษีบางส่วนยังคงถูกระงับอยู่) ปัจจัยเหล่านี้ได้เพิ่มความซับซ้อนให้กับความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศเคยนิยามว่า "แข็งแกร่งดุจเหล็ก"

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการหารือกับกลาสราว 35 นาที นายกฯ อิชิบะได้แสดงความต้องการที่จะกระชับความเป็นพันธมิตรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมองหาแนวทางที่ทั้งสองประเทศจะสามารถร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของประชาคมโลก โดยระบุว่า "ผมต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ดี"

ทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นกับกองทัพสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะจากจีนและเกาหลีเหนือ

"ผมมั่นใจมากว่า เราจะสามารถสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ปลอดภัย มั่นคง และสันติสุขยิ่งขึ้นได้" กลาสกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า นายกฯ อิชิบะและกลาสยังเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องปรามและตอบโต้ของพันธมิตร ควบคู่ไปกับการ "ลดภาระ" ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะในจังหวัดโอกินาวะ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับฐานทัพสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ และเผชิญแรงต่อต้านจากคนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจากปัญหาด้านเสียงดัง ความปลอดภัย และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางทหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ