สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) เปิดเผยในวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า ทั่วโลกใช้จ่ายด้านการทหารสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.72 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2531 และเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากการสู้รบอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียในยูเครนที่เปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนก.พ. 2565 ตลอดจนความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นในตะวันออกกลาง
เสี่ยว เหลียง นักวิจัยโครงการค่าใช้จ่ายทางการทหารและการผลิตอาวุธของ SIPRI ระบุในแถลงการณ์ว่า กว่า 100 ประเทศทั่วโลกเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารในปี 2567 โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทหารมากขึ้น แต่ปรับลดงบประมาณด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคมในอีกหลายปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า สหรัฐฯ ใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุด 9.97 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.7% ขณะที่จีนเพิ่มการใช้จ่าย 7.0% สู่ระดับราว 3.14 แสนล้านดอลลาร์ โดยทั้งสองประเทศครองสัดส่วนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั่วโลก ตามมาด้วยรัสเซีย เยอรมนี และอินเดีย
รัสเซียเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม 38% สู่ระดับ 1.49 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากระดับในปี 2558 แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านั้น ขณะที่การใช้จ่ายของยูเครน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 8 เพิ่มขึ้น 2.9% สู่ระดับ 6.47 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวคิดเป็น 34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในปี 2567
สำหรับในเอเชีย การใช้จ่ายของจีนเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 30 ติดต่อกัน คิดเป็น 50% ของการใช้จ่ายด้านกลาโหมทั้งหมดในเอเชียและโอเชียเนีย ขณะที่ญี่ปุ่น การใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มขึ้น 21% สู่ระดับ 5.53 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปีมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2495 และคิดเป็น 1.45% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2501 โดยญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 10 เท่ากับปีก่อนหน้า
ส่วนค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของอิสราเอลพุ่งสูงขึ้น 65% สู่ระดับ 4.65 หมื่นล้านดอลลาร์ และไต่ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 12 จากอันดับที่ 14 เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากอิสราเอลยังคงเดินหน้าโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง และยังคงขัดแย้งกับกลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ทางตอนใต้ของเลบานอน