เหตุการณ์ไฟดับเป็นวงกว้างในสเปน โปรตุเกส และบางส่วนของฝรั่งเศส เมื่อวันจันทร์ (28 เม.ย.) นับเป็นครั้งที่สองในเวลาเพียงไม่ถึงหกสัปดาห์ที่ประเทศในยุโรปต้องประสบกับเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ หลังจากเพลิงไหม้รุนแรงที่สถานีไฟฟ้าย่อยชานกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ได้ส่งผลให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้างพื้นที่โดยรอบ ซึ่งรวมถึงสนามบินฮีทโธรว์ที่ต้องระงับการให้บริการชั่วคราว จนส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินและผู้โดยสารจำนวนมาก
สำหรับไฟดับครั้งล่าสุดนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร เกิดจากอะไร ใครได้รับผลกระทบบ้าง เราขอประมวลเหตุการณ์ดังนี้
สเปน โปรตุเกส และพื้นที่บางส่วนของฝรั่งเศส ประสบปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคการขนส่งสาธารณะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไฟจราจรที่หยุดทำงานทำให้รถติดอย่างหนักในกรุงมาดริดของสเปนและกรุงลิสบอนของโปรตุเกส นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนต้องติดอยู่ในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและลิฟต์
โรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า สถานศึกษาและร้านค้าต่าง ๆ ในกรุงลิสบอนต้องปิดให้บริการชั่วคราว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องออกมาอยู่ตามท้องถนน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นของทั้งสเปนและโปรตุเกสยังคงเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
ด้านฝรั่งเศสเกิดไฟดับด้วยเช่นกัน แต่ไม่หนักเท่าสเปนและโปรตุเกส โดยมาร์ก แฟร์ราชี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสระบุว่า ฝรั่งเศสมีการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสจึงมีเพียงเล็กน้อย
ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟดับยังสะเทือนไกลไปถึงกรีนแลนด์ โดยทัสซัส (Tussass) บริษัทโทรคมนาคมของกรีนแลนด์ระบุเมื่อค่ำวันจันทร์ว่า ได้สูญเสียการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารผ่านดาวเทียมที่ตั้งอยู่ในเมืองมาสปาโลมัสในประเทศสเปน ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ทีวี และวิทยุ
สาเหตุของการเกิดไฟดับเป็นวงกว้างในขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจน ฌูอาว คอนไซเซา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ REN ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าของโปรตุเกส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สาเหตุอาจเกิดจากการแกว่ง (Oscillation) ของแรงดันไฟฟ้าขนาดใหญ่มากในระบบไฟฟ้าของสเปนก่อน ซึ่งต่อมาได้กระทบมาถึงระบบไฟฟ้าของโปรตุเกส
ด้านเอดูอาร์โด ปรีเอโต หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ เรด อิเล็กทริกกา (Red Electrica) ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าของสเปน กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ "ไม่ปกติ"
ขณะที่เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน เผยว่า โครงข่ายไฟฟ้าของสเปนสูญเสียพลังงานไป 15 กิกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 60% ของความต้องการไฟฟ้าในประเทศภายในเวลาเพียง 5 วินาที และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม ลูอิส มอนเตเนโกร นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส กล่าวว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการโจมตีทางไซเบอร์เป็นสาเหตุของไฟฟ้าดับ แม้จะมีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากการก่อวินาศกรรมก็ตาม
นอกจากนี้ เหตุการณ์ไฟดับที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า ความผันผวนของอุปทานจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความเสี่ยงต่อเหตุขัดข้องดังกล่าวมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากสเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในยุโรป
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ตอบสนองอย่างรวดเร็ว กระทรวงมหาดไทยของสเปนประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศและส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30,000 นายออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ตลอดจนดึงเอาไฟฟ้าจากโมร็อกโกและฝรั่งเศสเพิ้อฟื้นฟูพลังงานให้กับดินแดนทางตอนเหนือและตอนใต้ของสเปน
นอกจากนี้ กองทัพสเปนยังได้จัดส่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย
รัฐบาลโปรตุเกสเองก็ได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินเช่นกัน นอกจากนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรีมอนเตเนโกรของโปรตุเกส และผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่างเปโดร นูโน ซานโตส ต่างก็เห็นพ้องกันที่จะยกเลิกการดีเบตในวันจันทร์อันเนื่องมาจากไฟฟ้าดับ
พร้อมกันนี้ ทั้งสองประเทศได้แนะนำให้ประชาชนเตรียมวิทยุพลังงานแบตเตอรี่สำรองไว้เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารในกรณีที่การสื่อสารในช่องทางอื่น ๆ ล้มเหลว และมีประชาชนจำนวนมากที่นั่งฟังรายงานข่าวสารผ่านวิทยุตามท้องถนน
หากลองมองย้อนกลับไปในอดีต สถานการณ์ไฟดับเป็นวงกว้างในยุโรปก็มีให้เห็นอยู่บ้างประปราย โดยเมื่อ 2546 ประชาชนชาวอิตาลีกว่า 50 ล้านชีวิตต้องตกอยู่ในความมืดมิดเป็นเวลาเกือบหนึ่งวันเต็ม หลังจากที่สายไฟฟ้าเส้นหนึ่งที่เชื่อมต่อระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับอิตาลีเกิดการโอเวอร์โหลด ซึ่งถือเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เยอรมนีเองก็ประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับเป็นเวลาสั้น ๆ ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ จากการโอเวอร์โหลดในปี 2549 เช่นเดียวกัน
และเมื่อปีที่แล้ว ประชาชนในแถบคาบสมุทรบอลข่านก็ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่นานหลายชั่วโมงอันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนที่แผดเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ โครงข่ายไฟฟ้าของยุโรปเป็นแบบเชื่อมต่อกันหมด ด้วยเหตุนี้ หากเกิดการโอเวอร์โหลดหรือปัญหาขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง ก็มีโอกาสส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ
แม้ว่าสถานการณ์ไฟฟ้าดับจะคลี่คลายลง โดยพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบเริ่มกลับมาใช้ไฟได้แล้ว แต่ก็ยังอาจนิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ REN เตือนว่า อาจต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์เพื่อกู้คืนพลังงานงานกลับมาอย่างสมบูรณ์ ส่วนสาเหตุที่แท้จริงจะเกิดจากอะไรนั้น เราคงต้องติดตามกันต่อไป