ขณะที่ทั่วโลกได้ร่วมแสดงความยินดีกับพระโอรสองค์น้อยแห่งราชวงษ์อังกฤษที่เพิ่งประสูติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งของโลกที่เพิ่งผ่านพ้นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 95 บุคคลผู้นี้มีนามว่า “เนลสัน แมนเดลา" อดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกในระบอบประชาธิปไตยของแอฟริกาใต้ และเป็นนักต่อสู้ด้านมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ตามรอยรัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) มีชื่อจริงว่า “โรลีห์ลาห์ลา" (แปลว่า ดึงกิ่งก้านของต้นไม้ หรือ เจ้าตัวยุ่ง) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 ที่มเวโซซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นทรานส์คีย์ ประเทศแอฟริกาใต้ และเป็นสมาชิกคนหนึ่งของราชวงศ์เทมบู บิดาของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของกษัตริย์เทมบูในขณะนั้น ถูกยึดตำแหน่ง ส่งผลให้ครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ที่หมู่บ้านควูนู เมื่อแมนเดลาอายุได้ 9 ขวบ บิดาของเขาก็เสียชีวิตลง เขาจึงได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์จองกินตาบา และได้เข้าโรงเรียนศาสนาของนิกายเวซเลียน ที่ซึ่งครูของเขาได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษใหม่ให้ว่า “เนลสัน" ในช่วงเวลานี้เองที่เขาเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ของแอฟริกาใต้จากเชื้อพระวงศ์ที่มาเยือนราชสำนักเทมบู และได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่สงบสุขของชาวแอฟริกันก่อนที่คนผิวขาวจะเข้ามามีบทบาทในประเทศ
เมื่ออายุได้ 16 ปี แมนเดลาได้เข้าร่วมพิธีสุหนัดตามประเพณีของชาวเทมบู ซึ่งแสดงถึงการเติบโตเป็นผู้ชายเต็มตัว พร้อมรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์เช่นเดียวกับบิดา ขณะนั้นเขาได้ศึกษาต่อที่ Clarkebury Boarding Institute และ Wesleyan College ต่อมาในปี 2482 แมนเดลาได้เข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวสีแห่งเดียวของแอฟริกาใต้ในเวลานั้น เพื่อเตรียมตัวเป็นล่าม หรือเสมียน ซึ่งเป็นอาชีพที่ดีที่สุดของคนผิวสีในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาถูกไล่ออกในปีที่สองของการเรียน เนื่องจากได้เข้าร่วมกับสภาผู้แทนนักศึกษาประท้วงนโยบายของมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้นไม่นาน กษัตริย์จองกินตาบาได้ประกาศจัดงานแต่งงานให้กับแมนเดลา ซึ่งทำให้เขาไม่พอใจ และหนีไปยังเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เขาได้ทำงานที่สำนักงานทนายความ Witkin, Sidelsky and Edelman พร้อมกับสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแอฟริกาใต้โดยการเรียนทางไกล
เมื่อปี 2485 แมนเดลาได้เข้าร่วมในขบวนการต่อต้านนโยบายการเหยียดสีผิวของสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress: ANC) และได้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์ยุวชนแห่ง ANC หรือ ANCYL (African National Congress Youth League) โดย ANC มีบทบาทในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลพรรคชาตินิยมซึ่งสนับสนุนนโยบายการเหยียดผิว ด้วยวิธีการไม่ใช้ความรุนแรง แมนเดลาได้รับแนวคิดดังกล่าวมาจากมหาตมะ คานธี ผู้ริเริ่มแนวทางอารยะขัดขืนที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ANC มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเท่าเทียมกันให้แก่พลเมืองแอฟริกาใต้ จัดสรรที่ดินใหม่ในประเทศ แก้ปัญหาสิทธิสภาพการค้า ตลอดจนให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กๆชาวแอฟริกัน ในช่วงเวลานี้ เขากับเพื่อนนักกฎหมายคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ได้ร่วมกันตั้งสำนักกฎหมายชื่อ Mandela and Tambo เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชาวผิวดำผู้ด้อยโอกาสในราคาต่ำ หรือไม่คิดค่าบริการ
แมนเดลาเป็นแกนนำในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลโดยยึดถือแนวทางสันติวิธีมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนกระทั่งในปี 2499 เขา และเพื่อนร่วมขบวนการกว่า 150 คนถูกจับกุมในข้อหาก่อกบฏ และสิ้นสุดลงโดยที่ทั้งหมดไม่มีความผิด ขณะเดียวกันนั้นก็มีการก่อตั้ง “กลุ่มนิยมแอฟริกัน" ซึ่งเป็นขบวนการคนผิวสีกลุ่มใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันตินิยม และได้แยกตัวออกไปตั้งกลุ่มแพน-แอฟริกันนิสต์ คองเกรส (Pan-Africanist Congress) ส่งผลกระทบให้ ANC ต้องสูญเสียการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์
สถานการณ์ความตึงเครียดในประเทศเริ่มมาถึงจุดสูงสุด เมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่ขึ้นที่ชาร์เพวิลล์ ซึ่งตำรวจได้ยิงผู้ประท้วงผิวสีที่ไร้ทางสู้เสียชีวิตจำนวน 69 ราย รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศ และสั่งแบนกลุ่ม ANC และ PAC แมนเดลาจึงตระหนักว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ จึงได้ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธชื่อ MK (หรือ Umkhonto we Sizwe ซึ่งแปลว่า หอกแห่งชาติ) ดำเนินการลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญของรัฐบาลหลายแห่ง และใช้แผนรบแบบกองโจรเพื่อยุติสงครามการแบ่งแยกสีผิว
ในปี 2505 แมนเดลาถูกตัดสินจำคุก 5 ปีในข้อหาเดินทางออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมาย และเป็นผู้นำขบวนการประท้วงของคนงานทั่วประเทศ และต่อมาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตพร้อมผู้นำ ANC อีก 10 รายในข้อหาก่อการร้ายในปี 2506 เขาถูกจองจำอยู่ที่เกาะรอบเบ็น (Robben) เป็นเวลากว่า 18 ปีจาก 27 ปีของชีวิตในเรือนจำ แม้ว่าจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในฐานะนักโทษชั้นต่ำที่สุด แต่แมนเดลาก็สามารถคว้าปริญญาตรีด้านกฎหมายอีก 1 ใบจากหลักสูตรการเรียนทางไกลของมหาวิทยาลัยลอนดอนได้สำเร็จ ขณะเดียวกันแมนเดลาก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะผู้นำผิวสีที่สำคัญที่สุดของแอฟริกาใต้ รวมถึงเกิดแรงกดดันทั้งในประเทศ และนานาชาติที่มีต่อรัฐบาล เพื่อให้ปล่อยตัวเขาภายใต้คำขวัญ Free Nelson Mandela! ที่ริเริ่มโดยโอลิเวอร์ แทมโบ มิตรแท้ร่วมอุดมการณ์ของเขานั่นเอง จนในที่สุดประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ก็ได้ประกาศปล่อยตัวแมนเดลาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 ตลอดจนยกเลิกการแบนขบวนการ ANC ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก แมนเดลาได้กล่าวสุนทรพจน์กับประชาชนทั้งประเทศเรื่องการแสวงหาสันติภาพ และการประนีประนอมกับคนผิวขาว รวมถึงประกาศว่าจะยังคงกองกำลังติดอาวุธไว้จนกว่าคนผิวสีจะได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ในปี 2536 แมนเดลา และประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน เนื่องจากบทบาทที่โดดเด่นในการยุติการเหยียดสีผิว แม้ว่าบางคราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะไม่ค่อยดีนักก็ตาม ในที่สุด แอฟริกาใต้ก็มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกขึ้นในปี 2537 และแมนเดลาก็ก็กลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ เขาได้จัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ตลอดจนเปลี่ยนแปลงกฎหมายเรื่องการเหยียดสีผิว และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ซึ่งได้รับการยกย่องจากนานาชาติเป็นอย่างมาก รวมถึงสนับสนุนทีมชาติรักบี้ของแอฟริกาใต้ในโอกาสที่ประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้โลกในปีต่อมา เพื่อเป็นการสมานฉันท์ระหว่างคนผิวดำ และผิวขาวในประเทศ
ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แมนเดลาริเริ่มโครงการพัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนหลังสิ้นสุดยุคการเหยียดผิว ตลอดจนสร้างงาน ที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำ จัดสรรที่ดินทำกิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ในปี 2542 เขาก็ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง แต่ก็ยังคงอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม และสิทธิมนุษยชนขององค์กรมากมายเช่น การจัดตั้งกลุ่มเอลเดอร์ส (Elders) ซึ่งประกอบด้วยผู้นำโลกต่างๆเพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆของโลก หรือการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์โดยการระดมทุนผ่านโครงการ 46664 ซึ่งตั้งตามชื่อหมายเลขนักโทษของเขา
นักต่อสู้ผู้ครองหัวใจคนทั่วโลก
เนลสัน แมนเดลา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, โรซา ปาร์คส์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ในปี 2552 องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีสมาชิก 192 ประเทศได้ประกาศให้วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นวัน Nelson Mandela International Day โดยชาวแอฟริกาใต้ และผู้คนทั่วโลกจะรำลึกถึงการอุทิศตนเพื่อสังคมของแมนเดลาโดยสละเวลา 67 นาทีในวันนี้ เพื่อช่วยเหลือคนยากจน และทำสิ่งดีๆให้กับสังคม โดยในปีนี้ หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศแอฟริกาใต้ต่างพร้อมใจร่วมสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เช่น จัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า และคนชรา การสร้างห้องน้ำ ทำความสะอาด และทาสีโรงเรียนใหม่ บริจาคผ้าห่ม และอาหารแก่คนพเนจร ตลอดจนโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ
นอกจากรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแล้ว แมนเดลายังได้รับรางวัลเกียรติยศจากแอฟริกาใต้ และประเทศต่างๆอีกมากมายเช่น ได้รับรางวัล Bharat Ratna และรางวัล Gandhi/King Award for Non-Violence จากอินเดีย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Merit และ Order of St. John จากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ เหรียญอิสริยาภรณ์แห่งเสรีภาพจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กุญแจเมืองจากแอฟริกาใต้เอง ตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดา รวมถึงปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของไทยอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อสถานที่ต่างๆทั่วโลกตามชื่อแมนเดลา เช่น ชื่อถนน สะพาน ทางหลวง พลาซ่า สวนสาธารณะ อาคาร โครงการที่อยู่อาศัย โรงเรียน มหาวิทยาลัย มูลนิธิ กองทุน ทุนการศึกษา พันธุ์พืช และสัตว์ ตลอดจนมีการสร้างอนุสาวรีย์ จัดทำแสตมป์ ประพันธ์บทเพลง และสร้างภาพยนตร์เพื่อเป็นเกียรติแก่แมนเดลาอีกด้วย
วีรบุรุษค้างฟ้าในวัย 95 ปี
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 แมนเดลาในวัย 83 ปีได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากสุขภาพที่ย่ำแย่ เขาจึงปรากฎตัวในที่สาธารณะน้อยลง และกลับไปใช้ชีวิตที่เหลือกับครอบครัว ณ หมู่บ้านควูนู โดยการปรากฏตัวครั้งสุดท้ายของเขาเกิดขึ้นที่แมตช์สุดท้ายในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปี 2553 หลังจากนั้น แมนเดลาต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาลเนื่องจากอาการปอดติดเชื้อ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เขาได้เข้ารับการรักษาอาการที่กำเริบอีกครั้งที่โรงพยาบาลในกรุงพริทอเรีย (Pretoria) อาการของเขาย่ำแย่มากจนกระทั่งนางกราชา มาเชล ผู้เป็นภรรยาต้องยกเลิกกำหนดการเดินทางไปลอนดอนเพื่อมาอยู่เคียงข้างสามี รวมถึงนางเซนานี ดลามินี บุตรสาวของเขาก็รีบโดยสารเครื่องบินกลับมาแอฟริกาใต้เพื่อดูแลพ่อของตนเอง
ในขณะเดียวกัน นายเจคอบ ซูมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของแอฟริกาใต้ก็ได้เชิญชวนให้ประชาชนชาวแอฟริกาใต้ และทั่วโลกร่วมกันสวดมนต์เพื่อแมนเดลา โดยล่าสุดเขามีอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
วันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 95 ของเขานั้น ยังเป็นวันจัดการประชุมสุดยอดแอฟริกาใต้-สหภาพยุโรปครั้งที่ 6 ซึ่งนายเฮอร์แมน ฟาน รอมพาย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวถึงแมนเดลาว่า “อดีตประธานาธิบดีแมนเดลาอยู่ในความคิดคำนึง และบทสวดของเราในชั่วขณะนี้ การอุทิศตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเขา ตลอดจนการสนับสนุนแนวทางแห่งสันติสุข และการประนีประนอมได้แผ่ขยายไปทั่วโลก"
นอกจากนี้ นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์ของแมนเดลามาโดยตลอด และวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความเคารพต่อแมนเดลาก็คือ การเดินหน้าเผยแพร่ และสานต่อเจตนารมณ์ของเขาอันได้แก่ สันติภาพ ประชาธิปไตย ความอดทน และความยุติธรรมทางสังคม
“ก้าวย่างของเนลสัน แมนเดลา จะยังคงดำเนินต่อไปผ่านก้าวย่างของชาวแอฟริกาใต้ทุกคน และเราภูมิใจที่จะได้ก้าวเดินเคียงข้างคุณ...ประธานาธิบดีซูมา และชาวแอฟริกาใต้ทั้งปวง"
หลังเสร็จสิ้นการประชุม ประธานาธิบดีซูมาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ปีนี้ถือเป็นการฉลองวันเกิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแมนเดลา เรามองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการสรรเสริญให้กับชัยชนะของชาวแอฟริกาใต้ต่อกลุ่มผู้แบ่งแยกสีผิว ซึ่งนำโดยแมนเดลา และนักต่อสู้เพื่ออิสระที่รู้จักกันดีอีกหลายท่าน"
แม้ในวันนี้เนลสัน แมนเดลา จะเป็นเพียงชายชราคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับครอบครัวในหมู่บ้านเล็กๆ แต่ผู้คนทั้งชาวแอฟริกาใต้ และทั่วโลกตั้งแต่ระดับผู้นำคนสำคัญ ไปจนถึงเด็กๆผู้ด้อยโอกาสก็ยังคงจดจำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่เขาได้อุทิศเพื่อประเทศเป็นเวลานานกว่า 67 ปี และพร้อมที่จะเจริญรอยตามมรดกที่เขาได้ทิ้งไว้ให้กับชนรุ่นหลัง ซึ่งก็คือ การสร้างสันติภาพ และการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน