นางลาการ์ดกล่าวในงานแถลงข่าวว่า ไม่มีคำแนะนำด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จที่เหมาะสมสำหรับประเทศสมาชิกทั้ง 188 ประเทศของไอเอ็มเอฟ และแต่ละประเทศควรดำเนินการเสริมความแข็งแกร่งทางการคลังที่แตกต่างกันและควรกำหนดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปที่แตกต่างกัน
ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งรวมถึงยูโรโซน ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญ และควรจะมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและสหภาพการธนาคารในแนวทางที่ครอบคลุมในภูมิภาค
รายงาน "2013 Spillover Report" ของไอเอ็มเอฟระบุว่า หากสหรัฐและยูโรโซนไม่ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาอันเป็นต้นตอของความเสี่ยงที่รุนแรงต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อภูมิภาคอื่นๆในทั่วโลก การดำเนินการรับมือด้านนโยบายได้ช่วยขจัดความเสี่ยงดังกล่าวแล้วในขณะนี้ จึงช่วยลดความไม่แน่นอนและความตึงเครียดทางการเงิน ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นางลาการ์ดแนะว่า สหรัฐและญี่ปุ่นควรจะดำเนินการตามแผนการเสริมความแข็งแกร่งทางการคลังในระยะกลางของประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการปฏิรูปโครงการที่ให้สิทธิพิเศษเพื่อความมั่นคงในระยะกลาง
ส่วนเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา และแต่ละประเทศควรจะมีนโยบายของตนเอง ตัวอย่างเช่น อินเดียควรจะลงทุนมากขึ้นและดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นางลาการ์ดเน้นย้ำว่าจีนมีการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแรงผลักดันจากการลงทุนภายในประเทศ มาเน้นที่การบริโภคภายในประเทศ "แต่เรายังต้องการเห็นความต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว" สำนักข่าวซินหัวรายงาน