นั่นหมายความว่านายเรนซีกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลีอย่างไม่เป็นทางการ (จนกว่าจะทำพิธีสาบานตน) แถมเขายังพ่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของแดนมะกะโรนี ด้วยวัยเพียง 39 ปี โดยอายุน้อยกว่าเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำจอมเผด็จการฟาสซิสต์สมัยสงครามโลก อยู่ 2 เดือน
นอกจากขึ้นแท่น(ว่าที่)นายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดของประเทศแล้ว เส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของนายเรนซียังไม่ธรรมดาอีกด้วย....
พุ่งทะยานสู่จุดหมาย
การคว้าชัยชนะขึ้นเป็นผู้นำพรรค Democratic Party (PD) ซึ่งเป็นพรรคแนวร่วมกลางซ้ายและเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในรัฐสภาของอิตาลี เมื่อเดือนธ.ค.2556 ถือเป็นการปูพรมเข้าสู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีให้กับนักการเมืองปากกล้าผู้นี้
เพราะเพียงไม่นานหลังจากที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรค นายเอนริโก เล็ตตา รองผู้นำพรรค ก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่นายเรนซีเรียกประชุมแกนนำพรรค PD เพื่อขับนายเล็ตตาออกจากตำแหน่ง ด้วยการลงคะแนนเสียง 136 ต่อ 16 ให้พรรคถอดถอนการสนับสนุนนายเล็ตตา พร้อมกับเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าและความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและการดำเนินแผนปฏิรูปด้านต่างๆ
ทันทีที่ได้รับมอบอำนาจจากประธานาธิบดี นายเรนซีก็เดินหน้าเจรจาจัดตั้งรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น โดยเขาได้เริ่มปรึกษาหารือกับบรรดาพรรคการเมืองที่คาดว่าจะมาเป็นพันธมิตรร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ โดยเฉพาะพรรค New Centre Right (NCD) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้ อันเจลิโน อัลฟาโน ผู้นำพรรค NCD ซึ่งแยกออกมาจากพรรค Forza Italia (FI) ของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ได้ออกมาเตือนนายเรนซีเมื่อวันอาทิตย์ว่า พรรคของตนไม่ใช่ของตาย “หาก NCD บอกว่าไม่ รัฐบาลก็จะไม่ได้เกิด" เขากล่าว
แต่ดูเหมือนเรื่องจะง่ายดายกว่าที่คิด เมื่อมีสัญญาณบวกว่านายเรนซีจะได้รับการสนับสนุนจากพรรค NCD ซึ่งนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่พรรค PD ของนายเรนซีจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากในทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร
กราเซียโน เดลริโอ พันธมิตรใกล้ชิดของนายเรนซีเผยว่า หากการเจรจาสำเร็จลงด้วยดี การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลใหม่จะต้องทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และเผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ซึ่งกระบวนการทั้งหลายเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาจนถึงวันเสาร์เป็นอย่างช้า
โดยหากไม่มีอะไรผิดพลาดหรือมีอุปสรรคมาขัดขวาง นายเรนซีก็หวังว่ารัฐบาลของเขาจะสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศได้อย่างอยู่รอดปลอดภัยไปได้จนกระทั่งถึงปี 2561 ซึ่งสภาชุดปัจจุบันจะครบวาระ
ความหวังใหม่
นายเรนซีกล่าวสั้นๆกับนักข่าวที่มารอทำข่าวที่หน้าทำเนียบปธน.เมื่อวันจันทร์ โดยเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า “ผมจะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ตลอดจนความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นทั้งหมดเท่าที่ผมจะสามารถทำได้"
ที่ผ่านมา นายเรนซีได้เรียกร้องให้มีการล้มล้างระบบการเมืองอิตาลีทั้งระบบ ซึ่งแปดเปื้อนไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศมานานหลายทศวรรษ ตลอดจนรัฐบาล “ประตูหมุน" ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับการเมืองอิตาลีในสมัยหลังสงครามโลก
นายเรนซีพยายามหาทางมาโดยตลอดที่จะแทรกซึมความเชื่อในหมู่ชาวอิตาลีทีละน้อยว่า เขาสามารถเล่นการเมืองที่แตกต่างออกไปได้ และการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้
ครั้งหนึ่ง เขาได้กล่าวปิดท้ายการโต้วาทีที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ว่า เขาจะมอบบางสิ่งที่หาได้ยากมากในอิตาลี นั่นคือ “ความหวัง""
“ประชาชนเบื่อหน่ายและผิดหวัง" เขากล่าว “พวกเขาไม่เชื่ออีกต่อไป แต่ผมเชื่อ และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมเล่นการเมือง เพราะผมยังมีความเชื่อ"
ทั้งนี้ ภายหลังตอบรับคำขอของประธานาธิบดีนาโปลีตาโนให้เขามาเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล นายเรนซีก็ได้ประกาศเป้าหมายที่เขาจะเร่งผลักดันและสะสาง พร้อมกำหนดกรอบเวลา ได้แก่ การผลักดันการปฏิรูปรัฐธรรมนูญภายในเดือนนี้ การปฏิรูปแรงงานภายในเดือนมี.ค. และการปรับปรุงระบบบริหารงานราชการแผ่นดินและระบบภาษีในระหว่างเดือนเม.ย.และมิ.ย.
ความท้าทายที่ไม่อาจมองข้าม
นายเรนซีเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ด้วยเครื่องแต่งกายประจำตัวอย่าง เสื้อเชิ้ตขาวพับแขนขึ้น ไม่สวมแจ๊คเก็ต ไม่ผูกเนคไท นอกจากนี้ เขายังมีบุคลิกรวดเร็วและคล่องแคล่ว เมื่อต้องกล่าวต่อหน้าคนหมู่มาก เขาก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องจดโพย อีกทั้งยังสามารถพูดได้ครอบคลุมทุกปัญหานานับประการของอิตาลี พร้อมนำเสนอทางออกอย่างกว้างๆ
อย่างไรก็ดี แม้ภาพลักษณ์ดังกล่าวจะทำให้นายเรนซีกลายเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงที่หลายคนคิดว่าน่าจะฝากอนาคตของประเทศไว้กับเขาได้ แต่ในอีกนัยหนึ่ง ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าเขามีจุดอ่อนสำคัญและไม่อาจมองข้าม นั่นคือการขาดประสบการณ์ในเวทีใหญ่ระดับชาติ เนื่องจากตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของนายเรนซีคือ นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ เมืองใหญ่อันดับ 9 ของอิตาลี ที่เขาอยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552
แม้นายเรนซีได้แสดงให้เห็นถึงทักษะการเจรจาต่อรองที่คล่องแคล่วในที่ประชุมพรรค จนทำให้นายเล็ตตาต้องกระเด็นจากตำแหน่งนายกฯ และจริงอยู่ที่นายเรนซีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในหมู่ประชาชน แต่ด้วยความที่เขาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่เคยได้รับเลือกตั้งให้เข้านั่งในสภามาก่อน เขาจึงมีผลงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ และที่สำคัญคือ เขาไม่มีสายสัมพันธ์ในฝ่ายนิติบัญญัติที่จะช่วยผลักดันกฎหมายต่างๆที่รัฐบาลเสนอให้ผ่านฉลุย
“ความท้าทายแรกของเรนซีก็คือการจัดตั้งรัฐบาลนั่นเอง" ฟุลโค ลังเคสเทิร์ม หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซาปิเอนซ่า ในกรุงโรมกล่าว "เขาจะต้องเลือกคณะรัฐมนตรี และเผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของเขา นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเทียบกับที่นายกรัฐมนตรีใหม่หลายท่านในอดีตต้องเผชิญ"
หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ นายเรนซีก็จะเผชิญความท้าทายต่อไปซึ่งหนักหนาสาหัสกว่ามาก นั่นคือการนำพาประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นโดยบริษัท Opinioni ระบุว่า แม้โดยรวมแล้วชาวอิตาลีจะมีมุมมองเป็นบวกต่อตัวนายเรนซีเอง แต่สำหรับรัฐบาลนั้น ประชาชนมีความเหนื่อยหน่ายเกี่ยวกับรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและมีอายุสั้น
โดยรัฐบาลของนายเรนซีจะเป็นรัฐบาลชุดที่ 3 ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี และจะนับเป็นรัฐบาลชุดที่ 63 ของอิตาลี ในรอบ 68 ปี
“ประชาชนกำลังรอดูผลงานต่างๆในด้านการสร้างงาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความมีเสถียรภาพทางการเมืองโดยเร็ว" มาเรีย รอสซี จาก Opinioni กล่าว
การบริหารฟลอเรนซ์ เมืองแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการอันเฟื่องฟูและรุ่งเรืองนั้นนับได้ว่าห่างไกลอย่างมากกับการบริหารประเทศอิตาลี
ผู้สนับสนุนหลายรายในเมืองฟลอเรนซ์ชื่นชมสรรเสริญผลงานของนายเรนซี แต่ก็ไม่ใช่ชาวฟลอเรนซ์ทุกคนที่จะเห็นดีเห็นงามไปซะทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือ ออร์เนลลา เด ซอร์โด นักการเมืองท้องถิ่นที่วิจารณ์ว่า นายเรนซีเป็นพวกโฆษณาตัวเองเก่ง เขาดีแต่ให้คำสัญญา แต่ไม่สามารถรักษาสัญญาได้
“เขาเคยใช้สโลแกนหลายต่อหลายครั้งว่า 'Said, Done!' (พูดและลงมือทำ!)" เธอกล่าว “แต่ฉันขอบอกว่า 'Said, But Not Done!' (พูด แต่ไม่ทำ!) เพราะมัตเตโอ เรนซี เก่งมากในเรื่องของการสื่อสารและป่าวประกาศ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปดูผลงานของเขา มันช่างแตกต่างอย่างมาก เขาขายตัวเองเก่งมาก"
ด้านฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า การลาออกของนายเล็ตตา และการที่นายเรนซีมาแทนที่ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความผันผวนของการเมืองอิตาลี โดยเรนซีจะนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพ.ย.2554 ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความยั่งยืนของรัฐบาล และความสามารถของรัฐบาลในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและปรับลดยอดขาดดุลทางการคลัง ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ ‘BBB+’ ของอิตาลีอยู่ที่เชิงลบ เหตุการณ์ล่าสุดนี้ถือเป็นตอนล่าสุดของความผันผวนทางการเมืองของอิตาลีนับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
อลัน จอห์นสตัน นักวิเคราะห์จากบีบีซี นิวส์ กล่าวว่า นักการเมืองหนุ่มผู้มุ่งมั่นและทะเยอทะยาน แต่ไม่เคยผ่านบททดสอบมาก่อนรายนี้ ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้หลายข้อมาก และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องทำคำสัญญาเหล่านี้ให้เป็นจริง
ชาวอิตาเลียนจำนวนมากหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาจะสามารถนำการปฏิรูปครั้งใหญ่มาสู่การเมืองอิตาลี และสู่ประเทศ และถ้าหากเขาทำได้ อิตาลีก็จะกลายเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างออกไปค่อนข้างมากเลยทีเดียว
แต่ทุกคนรู้ดีกว่า ระบบรัฐบาลที่ไม่สมบูรณ์ของอิตาลีมีวิธีท้าทายอำนาจผู้ที่พยายามจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาปฏิรูป และด้วยการที่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็ว ด้วยอุปนิสัยที่หุนหันพลันแล่นและใจร้อน ทำให้นายเรนซีมีศัตรูไม่ใช้น้อยเหมือนกัน ซึ่งศัตรูเหล่านี้จะท้าทายอำนาจและเป็นอุปสรรคขัดขวางเส้นทางปฏิรูปของเขา
ขณะที่เชซาเร มาร์ติเน็ตติ จากหนังสือพิมพ์ La Stampa ได้เปรียบเทียบความมุ่งมั่นอันประจักษ์แจ้งของนายเรนซีที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจ กับการเล่นฟุตบอล “มัตเตโอ เรนซี ไม่กลัวที่จะยิงจุดโทษ แต่เรายังไม่รู้ว่าเขาจะยิงจุดโทษเข้าหรือไม่ หรือว่าลูกบอลจะเหินข้ามคานไป"
“ตรรกะของการเมืองคือการไร้ซึ่งความปราณี... มันเป็นภาพลวงตา และทำให้เราเข้าใจผิดว่าคนอย่างเรนซีจะอดทนรอโอกาสของเขา"
สเตฟาโน โฟลลิ เขียนในหนังสือพิมพ์การเงิน Il Sole 24 Ore โดยเตือนไม่ให้นายเรนซีประเมินความท้าทายที่เขาจะต้องเผชิญเมื่อก้าวขึ้นเป็นนายกฯต่ำเกินไป
“หากนายเรนซีได้เข้าทำเนียบจริง กระบวนการปฏิรูปอย่างจริงจังก็จะเริ่มต้นขึ้น"