Bitcoin คือ สกุลเงินดิจิตอล (Decentralized Online Digital Currency) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของระบบเน็ตเวิร์คคอมพิวเตอร์ สร้างขึ้นโดยนักพัฒนาที่ใช้ชื่อว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ในปี 2552 เพื่อทำธุรกรรมการเงินทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้า หรือการโอนเงินระหว่างกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินใดๆ
ชื่อย่อของสกุลเงิน Bitcoin คือ BTC และหน่วยเงินจะแบ่งย่อยได้ถึงทศนิยมแปดหลัก โดยเรียกหน่วยย่อยที่สุดว่า ซาโตชิ ตามชื่อผู้ให้กำเนิด
“Bitcoin" คืออะไร?
บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของสกุลเงิน Bitcoin ว่าคืออะไรกันแน่ และมีคอนเซปต์การทำงานอย่างไร ฉะนั้น เราจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสกุลเงินเสมือนจริงให้มากขึ้น โดยเริ่มจากลองนึกภาพตามขณะที่อ่านดังนี้ สมมุติว่า คุณขายของได้เงิน 1,000 บาท จึงนำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารก็จะบันทึกรายการลงในระบบของธนาคาร และในสมุดบัญชีว่า คุณมีเงินอยู่ 1,000 บาท แต่ Bitcoin จะทำงานแตกต่างออกไป โดยคุณเพียงแค่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมชื่อ Bitcoin Wallet เพื่อที่จะสร้าง address หรือเลขที่บัญชีของคุณ ซึ่งประกอบด้วยตัวเลขผสมตัวอักษรยาว 34 ตัวอักษร เช่น 19kgqNAaq983PXpaxeZSvLTc uieiVojmrN หลังจากนั้น เมื่อคุณขายของได้ ผู้ซื้อก็จะจ่าย Bitcoin มายังเลขที่บัญชี Bitcoin ของคุณได้เลย โดยจะมีระบบชื่อ “Block Chain" บันทึกข้อมูลธุรกรรมทุกรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมด
โปรแกรม และระบบของ BitCoin อาศัยการเชื่อมต่อ P2P (peer to peer) ของโลกอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ดังนั้น คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกที่รันโปรแกรม Bitcoin อยู่ จะรับทราบการทำธุรกรรมแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น และมีการตรวจสอบการใช้เงินผ่านการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ พร้อมบันทึกไว้โดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่าย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ให้ยืมเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองในการประมวลผลแก้รหัสเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรมนั้นๆ และบันทึกรายการดังกล่าวจะเรียกว่า Miner หรือ “นักขุด"
นักขุดที่สามารถคำนวณ และถอดรหัสคณิตศาสตร์ได้คนแรกจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อเวลาผ่านไป จำนวน Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้น จะมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะ Bitcoin มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านหน่วยเท่านั้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน Bitcoin มีมูลค่าพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล จึงทำให้คนหันมาขุด Bitcoin กันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับ Bitcoin ก็จะยากขึ้นด้วย
การแข่งขันที่มากขึ้นทำให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการถอดรหัส Bitcoin ต้องมีพลังสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้สำหรับถอดรหัส Bitcoin โดยเฉพาะ เพื่อที่จะสามารถถอดรหัส และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นคนแรก
ใครใช้ Bitcoin?
การทำธุรกรรมโดยใช้ Bitcoin ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 2555 ขณะเดียวกัน ร้านค้าที่ยอมรับ Bitcoin ในฐานะสื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขยายวงจากเกมออนไลน์ในช่วงแรกมาสู่ร้านค้าแบบ E-Commerce ร้านอาหารประเภท Quick Service Restaurants รวมถึงการชำระค่าเทอมของสถานศึกษาบางแห่งในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เริ่มมีผู้ให้บริการ Bitcoin ATMs ในบางประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ซึ่งผู้ให้บริการ Bitcoin ไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางชาตินั้นๆ โดยเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทโรโบคอยน์ ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็ม Bitcoin เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เปิดให้บริการตู้เอทีเอ็ม Bitcoin แห่งแรกในเมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดาแล้ว ทางบริษัทก็ได้รับยอดสั่งจองตู้เอทีเอ็มเพิ่มขึ้นมากมายทั่วโลก และตู้เอทีเอ็มชนิดนี้กำลังจะเปิดให้บริการในยุโรป และเอเชียด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โรโบคอยน์ และผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มดังกล่าวทั่วโลกต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อจะได้รับใบรับประกันว่า ธุรกิจของพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ปริมาณการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin ในปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 รายการต่อวัน ในขณะที่ มูลค่าตลาดของเงิน Bitcoin ณ วันที่ 25 ก.พ. 2557 อยู่ที่ประมาณ 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าของ 1 Bitcoin จะอยู่ที่ประมาณ 534 ดอลลาร์ฯ
ทำไม Bitcoin จึงได้รับความนิยม?
1. รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อย
การทำธุรกรรมทางไกลปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน หรือบางทีเป็นสัปดาห์ แต่หากใช้ Bitcoin การทำธุรกรรมจะสำเร็จภายในประมาณหน่วยชั่วโมง
ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมโดยใช้ Bitcoin นั้นถูกมากๆ เมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 0.0005 BTC ต่อการทำธุรกรรม 1 รายการ (หรือน้อยกว่า 25 สตางค์) ขณะที่หากใช้บัตรเครดิต ก็จะเสียประมาณ 3-5% ของจำนวนเงินในการทำธุรกรรมนั้นๆ
2. ไม่สามารถเรียกคืนได้
โดยปกติ ผู้ขาย หรือเจ้าของร้านค้าออนไลน์ จะมีความกังวลว่าหากรับซื้อด้วยบัตรเครดิต ผู้ซื้อมีสิทธิ์แจ้งเรียกเงินคืนได้ (Chargeback) ด้วยเหตุผลต่างๆนานา เช่น เจ้าตัวไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตร หรือบัตรโดนขโมยบ้าง ซึ่งทำให้ผู้ขายเสียโอกาสรายได้ส่วนนั้นไป หากส่งของให้กับลูกค้าเรียบร้อยแล้ว แต่ Bitcoin เป็นช่องทางการชำระเงินที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ 100%
3. ไม่ต้องใช้เอกสารให้ยุ่งยาก
คุณสามารถทำธุรกรรมด้วย Bitcoin ได้โดยไม่ต้องใช้เอกสาร หรือเสียเวลาเป็นวันๆในการเปิดบัญชี สิ่งที่คุณต้องทำคือ เพียงแค่ดาวน์โหลด Bitcoin Wallet ซึ่งมีหลายโปรแกรมให้เลือกใช้สำหรับสร้างบัญชีผู้ใช้ (Bitcoin Address) โดยคุณยังสามารถสร้างบัญชีผู้ใช้ได้มากเท่าที่คุณต้องการ
4. เป็นสกุลเงินของประชาชนอย่างแท้จริง
Bitcoin เป็นสกุลเงินอิสระที่ไม่ได้เป็นของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือธนาคารใดๆ ผู้ถือครองสกุลนี้สามารถนำเงินนั้นไปแลกเปลี่ยนกับอะไรก็ได้อย่างอิสระ และไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนในการแลกเปลี่ยนแต่ละครั้ง อาจกล่าวได้ว่า มวลชนคือเจ้าของที่แท้จริงของสกุลเงิน ซึ่งต่างจากสกุลเงินในปัจจุบันที่เป็นแบบ Fiat Currency คือมีค่าเพราะว่า รัฐหรือธนาคารรับรอง
เพราะเหตุใดบางคนจึงไม่สนับสนุน Bitcoin?
1. ช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
แม้ว่าการใช้ Bitcoin จะสะดวก รวดเร็ว และได้รับความนิยมมากขึ้น แต่สกุลเงินเสมือนจริงที่ไม่มีตัวตนนี้ ก็ยังมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญกับภัยคุกคามจากไวรัสคอมพิวเตอร์ที่อาจทำให้ Bitcoin สูญหายได้ ปัญหาของกระบวนการทำธุรกรรม หรือปัญหาการโจรกรรม Bitcoin ซึ่งทำให้เว็บไซต์รับแลก Bitcoin เป็นเงินจริงบางแห่งต้องปิดตัวลงอย่าง MtGox ซึ่งเป็นตลาดซื้อขาย Bitcoin รายใหญ่สุดของโลกที่ประกาศล้มละลายเมื่อเร็วๆนี้ หลังจากเว็บไซต์ถูกแฮคอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหลือทรัพย์สินไม่พอจ่ายคืนลูกค้า โดยขณะนี้ MtGox มีทรัพย์สินเพียง 32.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีเงินค้างจ่ายลูกค้ารวมกันกว่า 119.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. ช่องทางเติบโตของตลาดมืด
เนื่องจากการใช้ Bitcoin เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้โดยตรง ไม่มีการระบุตัวตน และไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสถาบันการเงินใดๆ ดังนั้น มิจฉาชีพจึงสามารถใช้ Bitcoin เพื่อเป็นช่องทางในการฟอกเงิน หรือหลีกเลี่ยงภาษีในการขายสินค้า และบริการ อาทิเช่น Silk Road เว็บไซต์ชื่อดังซึ่งถูกปราบปรามเมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นตลาดค้ายาเสพติดของผู้ค้านับพันราย คำนวณเป็นน้ำหนักได้นับร้อยกิโลกรัม รวมถึงสินค้าผิดกฎหมายอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยึดเงินในบัญชีของ Silk Road ไปแล้วรวม 173,991 BTC หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท
3. ความน่าเชื่อถือ และความผันผวนของอัตรา Bitcoin
Bitcoin เป็น “เงินเสมือน" ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ต่างจากค่าเงินสกุลต่างๆ (Fiat Money) ที่ส่วนใหญ่จะหนุนหลังด้วยเงินสกุลหลัก หรือทองคำ มูลค่าของ Bitcoin จึงขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้ใช้เป็นหลัก ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ Bitcoin ก็จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยน Bitcoin มีความผันผวนสูงกว่าค่าเงินของประเทศต่างๆ รวมถึงมีโอกาสเสื่อมค่าอย่างรวดเร็ว ดังเช่นมูลค่า Bitcoin ที่ซื้อขายกันที่เว็บไซต์ MtGox ที่ลดลงต่ำกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 26 ก.พ. 2557 จากระดับ 900 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ปลายเดือนม.ค. 2557 ในช่วงที่เว็บไซต์มีปัญหาขัดข้อง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของผู้ขายสินค้า และบริการซึ่งรับชำระเงินด้วย Bitcoin โดยตรง เพราะจะทำให้วัดมูลค่าของการทำธุรกรรม ตลอดจนการประเมินกำไร-ขาดทุนที่แท้จริงได้ค่อนข้างยาก และผันผวนตามมูลค่าของ Bitcoin
4. ผลกระทบต่อนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ
เมื่อ Bitcoin ได้รับความนิยมมากขึ้นในเศรษฐกิจ ก็อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั้งหลาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอุปทานของ Bitcoin ในตลาดได้ และไม่สามารถดูแลปริมาณเงินระบบได้อย่างครอบคลุม ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้ Bitcoin เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน
Bitcoin ดี หรือไม่ดีกันแน่?
นับตั้งแต่เปิดตัวขึ้นในปี 2552 Bitcoin ก็แพร่หลายมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปทั้งยอมรับ และไม่ยอมรับสกุลเงินดิจิตอลนี้
มหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐเปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่มีอำนาจกำกับดูแล Bitcoin ซึ่งเกิดขึ้นนอกระบบธนาคาร แต่ก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้ Bitcoin เพื่อฟอกเงิน ขณะที่บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์มองว่า สกุลเงินดิจิตอลเป็นประโยชน์กับคนยากจนที่ทำธุรกรรมรายย่อย และคิดว่าอีก 5 ปี เงินดิจิตอลจะเข้าถึงประเทศอินเดีย และบางส่วนของแอฟริกา
ส่วนประเทศจีนก็ประกาศห้ามไม่ให้สถาบันทางการเงินให้บริการซื้อขาย Bitcoin หลังจากการใช้ Bitcoin ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยร้านค้า และบริการต่างๆไม่สามารถรับจ่ายเงินด้วย Bitcoin ได้ แต่อนุญาตให้เว็บไซต์บางแห่งให้บริการซื้อขาย Bitcoin ได้โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานด้านโทรคมนาคมของจีน อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงกลับอนุญาตให้มีการเปิดเคาน์เตอร์เพื่อแลกเปลี่ยน Bitcoin เป็นสกุลเงินจริงๆได้ และเป็นแห่งแรกของโลก
สำนักงานด้านการธนาคารยุโรป (EBA) ซึ่งกำกับดูแลการธนาคารของสหภาพยุโรปก็ได้แจ้งเตือนว่า ขณะนี้ไม่มีกฎระเบียบคุ้มครองการใช้ Bitcoin ดังนั้น หากเกิดความเสียหายใดๆขึ้น ผู้ใช้จะไม่สามารถใช้สิทธิ์การคืนเงินตามกฎหมายคุ้มครองธุรกรรมการเงินของสหภาพยุโรปได้
ขณะที่นอร์เวย์มองว่า Bitcoin ไม่ใช่สกุลเงิน แต่เป็นสินทรัพย์ที่ผู้ถือครองจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลเช่นเดียวกับรถยนต์ หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
ด้านสิงคโปร์ก็ออกมาประกาศว่า จะไม่แทรกแซงสกุลเงินดังกล่าว และอนุญาตให้เปิดธุรกิจ และบริการที่รับจ่ายเงินด้วย Bitcoin ได้
ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เว็บไซต์ MtGox กำลังหาทางเก็บภาษีการทำธุรกรรม Bitcoin เพราะมองว่าการซื้อขายด้วยสกุลเงินดิจิตอลต้องถูกเก็บภาษีบริโภค และภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้จะไม่ใช่สกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
สำหรับประเทศไทยนั้นไม่อนุญาตให้นำ Bitcoin มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่สามารถซื้อขาย Bitcoin ได้ เนื่องจากไม่ใช่การแลกเปลี่ยนเงินตรา
Bitcoin กำเนิดขึ้นในฐานะนวัตกรรมการจ่ายเงินที่อนุญาตให้ทุกคนทำธุรกรรมการเงินได้อย่างอิสระ มีความสะดวกรวดเร็ว และเสียค่าธรรมเนียมต่ำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสกุลเงินในฝันที่กำลังจะไปได้สวยในอนาคต หากไม่พบกับช่องโหว่สำคัญเสียก่อน อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะธรรมดาของทุกสิ่งมักจะประกอบด้วย 2 ด้านเสมอคือ ด้านบวก และด้านลบ การตั้งประเด็นถกเถียงกันว่า “เงินกระดาษ" หรือ “เงินดิจิตอล" จะเหมาะสมกับมนุษยชาติมากกว่ากันอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะเคารพกติกาการใช้ “เงิน" ด้วยความซื่อสัตย์ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และร่วมกันดูแลปกป้องทรัพย์สินให้อยู่รอดต่อไปได้อย่างไรมากกว่า