Roundup: ประชาคมโลกเรียกร้องให้คลี่คลายวิกฤตยูเครนอย่างสันติ,มีเอกภาพ

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 6, 2014 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประชาคมโลกเรียกร้องวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตในยูเครนอย่างสันติและเป็นเอกภาพ ท่ามกลางความตึงเครียดที่ยังคงคุกรุ่นในไครเมีย

นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ย้ำถึงความจำเป็นในการลดสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบันในยูเครนลงอย่างเร่งด่วน และส่งเสริมการเจรจาเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

ในระหว่างที่นายบันเดินทางเยือนกรุงเจนีวาเพื่อพบปะกับนายแฟรงค์-วอลเตอร์ สไตน์เมเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีนั้น นายบันได้ให้คำมั่นสัญญาว่าสหประชาชาติจะสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนายบันและนายสไตน์เมเออร์ต่างเห็นพ้องกันว่าต้องใช้ช่องทางการทูตทุกวิถีทางอย่างจริงจังมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในยูเครนยังคงเปราะบาง

นายแจน เอเลียสสัน รองเลขาธิการยูเอ็นได้เดินทางเยือนยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามคำขอของนายบันเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ประชุมร่วมกับบรรดาเจ้าหน้าที่รักษาการของยูเครนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยวิธีการทางการทูต

ช่วงที่นายเอเลียสสันอยู่ในยูเครน เขาได้ย้ำข้อเรียกร้องของนายบันที่ว่าควรจะเคารพและปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

วิกฤตในยูเครน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการประท้วงต่อต้านการตัดสินใจของประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิชเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการยกเลิกข้อตกลงร่วมกับสหภาพยุโรปเพื่อแลกกับความช่วยเหลือของรัสเซียนั้น ได้มีความรุนแรงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุปะทะนองเลือดระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ หลังจากนั้นนายยานูโควิชได้หนีออกจากกรุงเคียฟ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไครเมีย ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของไครเมีย ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของวิกฤตการณ์อันตึงเครียดในครั้งนี้ หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธได้เข้ายึดสถานที่ราชการและรัฐสภาในไครเมีย รวมถึงเข้าควบคุมสนามบิน 2 แห่ง ขณะที่มีการชักธงชาติรัสเซียขึ้นสู่ยอดเสาของอาคารต่างๆที่ถูกยึดไว้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ได้แถลงเกี่ยวกับวิกฤตในยูเครนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ว่า รัสเซียไม่ได้พิจารณาถึงการยึดครองไครเมีย และจะไม่กระตุ้นให้มีบรรยากาศเช่นนั้น

ปธน.ปูตินกล่าวเพียงว่า ชาวไครเมียเท่านั้นที่จะสามารถตัดสินอนาคตของพวกเขาเอง และรัสเซียจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่หน่วยงานต่างๆในไครเมีย

บรรดาผู้สื่อข่าวสอบถามปธน.ปูตินว่าเขามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าการส่งกองกำลังทหารของรัสเซียเข้าไปในยูเครนอาจเป็นฉนวนให้เกิดสงครามหรือไม่ โดยปธน.ปูตินตอบว่า รัสเซียจะไม่ทำสงครามกับประชาชนชาวยูเครน

เขาระบุว่า "เราไม่มีศัตรูอยู่ที่นั่น อยู่เครนเป็นประเทศที่เป็นมิตร ซึ่งรวมถึงผู้คนจากฝั่งตะวันตกของยูเครนด้วย พวกเราเป็นเหมือนพี่น้องกัน"

"หากเราเห็นการกระทำผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เราสงวนสิทธิ์ที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องประชาชนเหล่านี้" โดยย้ำว่านี่จะเป็นทางเลือกสุดท้าย

ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับปธน.ปูตินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนระบุว่าสถานการณ์ในยูเครนมีความอ่อนไหวและซับซ้อนมาก เขากล่าวว่าจีนเชื่อว่ารัสเซียจะสามารถร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆเพื่อเร่งหาข้อยุติปัญหาทางการเมืองดังกล่าว เพื่อปกป้องความสงบสุขและความมั่นคงในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ปธน.จีนระบุว่า จีนสนับสนุนข้อเสนอและความพยายามประนีประนอมของประชาคมโลก ซึ่งเป็นหนทางสู่การคลายความตึงเครียด

ประเทศในแถบตะวันตกได้แสดงการสนับสนุนความพยายามในเชิงสร้างสรรค์ทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตยูเครนในปัจจุบันอย่างสันติวิธี

องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เห็นด้วยกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของสหประชาชาติและสหภาพยุโรป และจะยังคงปรึกษาหารือร่วมกับยูเครนภายใต้คณะกรรมการนาโต-ยูเครน

ในการสนทนาทางโทรศัพท์ ปธน.บารัค โอบามาของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคลของเยอรมนี เห็นด้วยกับประเด็นความจำเป็นในการคลี่คลายสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดในยูเครน และได้หารือถึงวิธีแก้ไขปัญหาในยูเครนอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ปธน.โอบามายังระบุว่า ยูเครนยังมีโอกาสผูกมิตรกับทั้งชาติตะวันตกและรัสเซีย

ทางด้านปธน.ฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศสกล่าวว่า ฝรั่งเศสและพันธมิตรในยุโรปจะ "ใช้มาตรการกดดันที่จำเป็นทุกทาง ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตร" เพื่อพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาทางการเมืองในยูเครน

นายกรัฐมนตรีเออร์เซนีย์ ยัตเซนยุคของยูเครน กล่าวว่า สมาชิกคณะรัฐมนตรียูเครนเริ่มปรึกษาหารือกับคณะรัฐมนตรีของรัสเซีย เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

เขาให้สัมภาษณ์ว่า "การปรึกษาหารือในระดับรัฐมนตรีระหว่างยูเครนและรัสเซียได้เริ่มขึ้นแล้ว แม้ว่าขั้นตอนการเจรจาจะไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไหร่นัก แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรก"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ