In Focus : ปริศนาเที่ยวบิน MH370 และชะตากรรมที่ยากจะคาดเดาของผู้โดยสาร 239 คน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 12, 2014 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นอีกวันหนึ่งที่คนทั่วโลกต่างรู้สึกตกใจไปกับข่าวการสูญหายของเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 พร้อมด้วยผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ประกอบด้วย ชาวจีน 153 คนรวมเด็กเล็ก 1 คน มาเลเซีย 38 คน อินโดนีเซีย 12 คน ออสเตรเลีย 6 คน สหรัฐอเมริกา 4 คนรวมเด็กเล็ก 1 คน ฝรั่งเศส 3 คน นิวซีแลนด์ 2 คน ยูเครน 2 คน แคนาดา 2 คน รัสเซีย 1 คน อิตาลี 1 คน ไต้หวัน 1 คน เนเธอร์แลนด์ 1 คน ออสเตรีย 1 คน และลูกเรืออีก 12 คน

เครื่องบินลำดังกล่าวได้เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเวลา 00.41 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ และมีกำหนดถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในเวลา 06.30 น. แต่ในเวลา 02.40 น. เครื่องบินลำนี้ได้หายไปจากจอเรดาร์ และขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมการจราจรโดยสิ้นเชิง ... บรรยากาศที่สนามบินกรุงปักกิ่งในช่วงสายของวันนั้น เต็มไปด้วยความโกลาหล ญาติมิตรของผู้โดยสารบนเที่ยวบินลำนี้ ซึ่งรอคอยอยู่ที่สนามบิน เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย ไม่สบายใจ และหลายคนเริ่มเอะใจว่าทำไมเครื่องบินจึงขึ้นป้าย "ดีเลย์" นานเกินไป กระทั่งเมื่อมาเลเซีย แอร์ไลน์ ตัดสินใจเปลี่ยนข้อความบนบอร์ดแสดงข้อมูลการเดินทางขาเข้าและขาออกของเครื่องบินว่า "เที่ยวบินยกเลิก" ญาติพี่น้องของผู้โดยสารบนเครื่องก็เริ่มร้องไห้และพยายามกดดันให้สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า เครื่องบินจะร่อนลงจอดที่สนามบินได้เมื่อใด และสามารถติดต่อผู้โดยสารบนเครื่องได้หรือไม่

ในวันแรกนั้น นายอาห์หมัด จาฮารี ยาะห์ยา ประธานกรรมการสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ แถลงว่า เครื่องบินขาดการติดต่อหลังเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประมาณ 2 ชั่วโมง และรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่ง แต่ความหวังก็ยังพอมีอยู่บ้างเพราะกัปตันผู้ควบคุมเครื่องบินคือ นายซาฮารี อาหมัด ชาห์ วัย 53 ปี เป็นนักบินที่มีความชำนาญและทำงานกับมาเลเซีย แอร์ไลน์ มาตั้งแต่ปี 2524

ปฏิบัติการตามหาเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 เที่ยวบิน MH370 เริ่มต้นตั้งแต่มีการยืนยันว่า เครื่องบินขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมเป็นเวลานานจนผิดสังเกตุ ทั้งรัฐบาลมาเลเซีย เวียดนาม ไทย และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐ ต่างยื่นมือให้ความช่วยเหลือในการค้นหาอย่างเต็มที่ โดยกองทัพเรือสหรัฐได้ส่งเรือรบยูเอสเอส พิงค์นีย์ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ที่ทันสมัยและอุปกรณ์ค้นหาและกู้ภัยครบครัน ไปร่วมปฏิบัติการทันทีที่ได้รับการร้องขอ

การค้นหายังคงดำเนินต่อไปจนเข้าสู่วันที่ 5 แล้วในวันนี้ แต่เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 เที่ยวบิน MH370 ก็ยังคงถูกประเมินว่าอยู่ในสถานะ "สูญหาย" อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตกันไปในหลากหลายทางว่า อาจเป็นการก่อการร้าย หรือเครื่องบินตกลงสู่ทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพบคราบน้ำมันห่างจากรัฐกะลันตันของมาเลเซียประมาณ 100 ไมล์ทะเล แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบแล้วก็ยืนยันว่า คราบน้ำมันดังกล่าวไม่ใช่น้ำมันที่มาจากเครื่องบินลำดังกล่าวนี้

ส่วนข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการก่อการร้ายนั้น เปิดฉากขึ้นเมื่อนายคริสเตียน โคเซล ชาวออสเตรีย และนายลุยจิ มารัลดี ชาวอิตาลี ซึ่งมีชื่ออยู่บนเครื่องบินลำนี้ด้วยนั้น ได้ออกมายืนยันว่าผ่านสื่อมวลชนว่า พวกเขาไม่ได้อยู่บนเครื่องลำเกิดเหตุ และพาสปอร์ตของทั้งคู่ถูกขโมยขณะอยู่ในประเทศไทย การถูกโจรกรรมพาสปอร์ตของชาวต่างชาติทั้งสองคนนี้ ถูกมองว่าอาจเป็นสัญญาณเชื่อมโยงไปถึงเหตุก่อการร้าย แต่ล่าสุด นายโรนัลด์ เค. โนเบิล เลขาธิการทั่วไปขององค์การตำรวจสากล (Interpol) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า เที่ยวบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ที่สูญหายไปตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากการก่อการร้าย ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นว่า การใช้หนังสือเดินทางปลอม ไม่ได้หมายความว่าผู้โดยสารคนนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเสมอไป คนพวกนั้นอาจไม่ได้เป็นมากกว่าขโมย หรือพวกเขาอาจแค่ซื้อหนังสือเดินทางปลอมมาจากตลาดมืดเท่านั้น

แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเคยเกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารแอร์ อินเดีย ซึ่งประสบเหตุตกที่เมืองมังกาลอร์ ระหว่างเส้นทางบินมาจากนครรัฐดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สู่อินเดียเมื่อปี 2553 ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิต 158 คน โดยมีการพบหลักฐานภายหลังว่ามีผู้โดยสารบนเครื่องบินลำนั้นใช้หนังสือเดินทางปลอมมากถึง 10 ราย ทำให้ประเด็นเครื่องบินถูกก่อการร้ายกลายเป็นประเด็นต้องสงสัย

ปริศนาการสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเครื่องบินโบอิ้งลำนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมการบินพากันร้อนใจ และออกมาแสดงความคิดเห็นกันไปในด้านต่างๆ โดยนายพอล ฮาเยส ผู้บริหารไฟลท์โกลบอล แอสเซนด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาความปลอดภัยด้านการบินของอังกฤษ กล่าวว่า การหายไปอย่างกะทันหันของเครื่องบินโดยสารลำนี้น่าจะเป็นเพราะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเร็วมากจนนักบินไม่มีโอกาสที่จะติดต่อศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากการกระทำโดยเจตนา หรือเป็นไปได้ว่า นักบินกำลังยุ่งอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายจอห์น โกเกลีย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ ได้แสดงความเห็นว่า การที่นักบินไม่ส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้ายนั้น อาจจะเป็นเพราะการระเบิดของเครื่องบิน อันเนื่องมาจากการลดความดันหรือเกิดการระเบิดของอุปกรณ์

ด้านนายนีล แฮนสฟอร์ด ประธานบริษัทที่ปรึกษาบริษัท สตราเทจิค เอวิเอชัน โซลูชั่นส์ กล่าวว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777 ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินที่ปลอดภัยที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน โอกาสที่เครื่องยนต์สองเครื่องจะขัดข้องในเวลาเดียวกันมีน้อยมาก และหากเสียเครื่องยนต์ตัวใดตัวหนึ่งขณะบินก็ไม่ทำให้เครื่องบินตก

นายโมฮัน รังคนาทาน ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยการบินของคณะกรรมการที่ปรึกษาความปลอดภัยการบินพลเรือนของอินเดีย กล่าวว่า น้อยครั้งมากที่เครื่องบินลำหนึ่งจะขาดการติดต่ออย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีสิ่งบ่งชี้ถึงปัญหาใดๆก่อนหน้า โดยเฉพาะกับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ซึ่งเป็นรุ่นที่ปลอดภัยมาก พร้อมกับตั้งคำถามหลังจากดูข้อมูลการติดตามการบินออนไลน์ว่า เพราะเหตุใดเมื่อเครื่องบินไต่ระดับถึงความสูง 10,700 ฟุตแล้ว เครื่องบินจึงลดเพดานลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนทิศทาง

ในขณะที่การสูญหายของเครื่องบินเริ่มย่างเข้าสู่วันที่ 5 ในวันนี้ ก็มีข้อมูลพรั่งพรูออกมามากมายเกี่ยวกับสมรรถนะของเครื่องบินลำดังกล่าว โดยมีรายงานระบุว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777 เป็นเครื่องบินโดยสารของสหรัฐที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง นับตั้งแต่ปี 2544 ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับโบอิ้ง 777 เป็นครั้งแรก จนถึงปี 2556 นั้น โบอิ้ง 777 มีอุบัติเหตุและความผิดพลาดเกิดขึ้นเพียง 9 ครั้ง รวมถึงเหตุเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินเอเชียน่า แอร์ไลน์ของเกาหลีใต้ ประสบอุบัติเหตุกระแทกรันเวย์ที่สนามบินนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนก.ค. 2556 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน

ส่วนสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ นั้น นับเป็นสายการบินที่มีความปลอดภัยสูงเช่นกัน โดยตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2490 หรือ 67 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุและความผิดพลาดเกิดขึ้นเพียง 7 ครั้ง ซึ่งอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2520 หลังจากเที่ยวบิน 653 ถูกจี้และตกกระแทกพื้นสนามบินในรัฐยะโฮร์ ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 100 รายเสียชีวิต

ทั้งนี้ หากตั้งสมมติฐานว่าเที่ยวบิน MH 370 ตก ก็ถือเป็นอุบัติเหตุรุนแรงที่สุดในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่โบอิ้ง 777-200 เริ่มผลิตเมื่อเดือนมิ.ย. 2537 อย่างไรก็ตาม มาเลเซีย แอร์ไลน์ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่า เครื่องโบอิ้ง 777-200 เที่ยวบิน MH370 ลำนี้ ได้ผ่านการซ่อมบำรุงเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2557 หรือ 12 วันก่อนจะขึ้นบินในวันที่ 8 มี.ค. 2557 และวิศวกรผู้ทำการซ่อมบำรุงยืนยันว่า สภาพเครื่องบินไม่มีปัญหา พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องบินลำนี้ได้ผ่านการขึ้นบินมาแล้วกว่า 53,000 ชั่วโมงนับตั้งแต่ส่งมอบเครื่องครั้งแรกในปี 2545

แม้มีการวิเคราะห์และตั้งข้อสันนิษฐานกันไปในทิศทางต่างๆมากมาย แต่สิ่งที่ประชาชนทั่วโลกห่วงใยมากที่สุดในเวลานี้ คือชะตากรรมของผู้โดยสารทั้ง 239 บนเครื่องบินลำนี้ ... เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ซึ่งเป็นวันแรกที่เที่ยวบิน MH370 สูญหายไปจากจอเรดาร์นั้น ศูนย์ควบคุมการบินของจีนได้ส่งข้อความไปถึงเครื่องบินลำดังกล่าวว่า... "Malaysian Airlines Flight MH370, the air traffic control radar hopes to see you. If you can hear this, please maintain your current altitude, and proceed directly to your destination. Know that we have applied for a direct route for you, and other kind-hearted flights will accommodate you by giving way to you.

... Everyone is willing to let you be the first to land. The weather for your route is currently sunny and cloudless, with the air temperature at your destination Beijing being 5 degrees, a little cold, so dress warmly when disembarking. Remember to hug the friends and family who have come to pick you up, because they love you very much. Good day."

ข้อความที่ถือเป็น "heart-breaking message" เหล่านี้ ทำเอาผู้คนมากมายถึงกับหลั่งน้ำตา แต่การหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเที่ยวบิน MH370 ในเวลานี้ พวกเราคงทำได้แต่เพียงอธิษฐานและภาวนาขอให้ทุกคนปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ