เรือดังกล่าวมีชื่อว่า “เซวอล" (Sewol) ซึ่งมีจุดหมายปลายทางที่เกาะเชจู เป็นเรือที่โรงเรียนมัธยมทันวอนใช้พานักเรียนไปเที่ยวในกิจกรรมทัศนศึกษาประจำภาคเรียนของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่เกิดเหตุ เจ้าหน้ายังไม่สามารถค้นหาผู้โดยสารที่สูญหายได้ทั้งหมด โดยในวันนี้ (23 เม.ย.) มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 128 ราย และได้รับการช่วยเหลือแล้ว 174 ราย ส่วนผู้โดยสารอีก 174 รายยังคงสูญหาย
การเสียชีวิตของผู้โดยสารหลายราย นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกัปตันเรือ นายลี จุน ซุค วัย 68 ปี กัปตันเรือพร้อมด้วยลูกเรืออีก 2 คน อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ และถูกตั้งข้อหา 5 ข้อหา จากการกระทำอันละเลยต่อหน้าที่และละเมิดกฎหมายการเดินเรือ ในการสอบสวนเบื้องต้น กัปตันให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ควบคุมเรือขณะเกิดเหตุ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับ 3 ซึ่งไม่มีประสบการณ์การเดินเรือ และไม่คุ้นเคยกับกระแสน้ำบริเวณดังกล่าว กัปตันกล่าวถึงการตัดสินใจที่ไม่สั่งอพยพผู้โดยสารในทันทีว่า "ในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสน้ำเชี่ยวมาก และอุณหภูมิของน้ำเย็นมาก และถ้าให้ผู้โดยสารสละเรืออย่างเร่งรีบ หรือไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ก็อาจจะถูกกระแสน้ำพัดไปเจอกับความยากลำบากอื่น นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่มีเรือช่วยเหลือมาถึง และไม่มีเรือประมงอยู่ใกล้ๆ" การละทิ้งผู้โดยสารและปล่อยให้เรืออัปปางของกัปตันและลูกเรือกำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงประธานาธิบดีปาร์ค กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ ที่กล่าวว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็น “การฆาตกรรม" โดยประธานาธิบดีปาร์คให้คำมั่นว่าจะสอบสวนการกระทำผิดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการบนเรือดังกล่าว และจะให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบแสดงความรับผิดชอบ "ทางอาญาและทางแพ่ง" โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในตำแหน่งใดๆก็ตาม
นอกจากความละเลยด้านการปฏิบัติหน้าที่ของกัปตันและลูกเรือ ผู้เชี่ยวชาญได้สันนิษฐานสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการซึ่งทำให้เรืออัปปาง
สถานีโทรทัศน์วายทีเอ็นระบุถึงสาเหตุว่า มีความเป็นไปได้ที่เรืออาจแล่นออกนอกเส้นทาง แล้วเผชิญกับหมอกและกระแสลมแรง จนทำให้ผู้บังคับเรือไม่สามารถควบคุมเรือได้ นอกจากนี้ หากเรือแล่นออกนอกเส้นทางจริง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเรืออาจชนกับหินใต้น้ำ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตน้ำตื้นและมีหินใต้น้ำจำนวนมาก โดยสังเกตได้จากความเร็วที่เรือเริ่มเอียงและพลิกกลับ ซึ่งบ่งชี้ว่าเรืออาจได้รับความเสียหายอย่างหนักและเกิดน้ำท่วมภายในและจมลงเกือบมิดลำภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงกว่า อย่างไรก็ดี กระทรวงสมุทรศาสตร์และการประมงของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เรือเซวอลไม่ได้แล่นออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้มากนัก
สาเหตุที่สองคือ เรือเซวอลอาจหักเลี้ยวกะทันหัน ส่งผลของที่บรรทุกมาในเรือไหลไปรวมกันด้านหนึ่ง จนเรือเอียงขวา เสียสมดุล และจมลงในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของผู้โดยสารที่ว่า ได้เสียงตู้คอนเทนเนอร์ตกทะเล โดยผู้เชี่ยวชาญของหน่วยยามฝั่งเกาหลีใต้ระบุว่า เรือเซวอลบรรทุกรถยนต์ถึง 180 คัน และสินค้าอื่นๆ รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวมกว่า 1,157 ตัน นอกจากนี้ จุดเกิดเหตุเป็นน่านน้ำห่างจากเกาะบยองพุงไปทางเหนือราว 20 กม. ซึ่งเป็นจุดที่เรือมักเปลี่ยนเส้นทาง
หน่วยยามชายฝั่งยังเชื่อว่า เสียงที่ผู้โดยสารได้ยินก่อนเรือจม อาจเป็นเสียงตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ไหลไปชนผนังเรือ และทำให้เครื่องยนต์ดับ เนื่องจากผู้รอดชีวิตบางรายกล่าวว่า เรือหยุดนิ่งเป็นเวลาเกือบชั่วโมงก่อนมีการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือเมื่อเวลาประมาณ 9:00 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ในวันเกิดเหตุ
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ยุน จอง-ฮี จากมหาวิทยาลัยมหาสมุทรและการเดินเรือ เปิดเผยกับสำนักข่าวโคเรีย จุงอัง เดลี่ ว่า การหักเลี้ยวฉับพลันอาจไม่ใช่สาเหตุเบื้องต้น เนื่องจากเรือเฟอร์รี่ทุกลำถูกออกแบบมาให้สามารถหักเลี้ยวอย่างกะทันหันได้
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างเรือเซวอลใหม่โดยเพิ่มห้องโดยสารบริเวณด้านหลังของเรือ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เรือเสียสมดุล นายจุง ยอง-ฮุน อดีตนายพลในกองทัพเรือเกาหลีใต้และอดีตผู้บังคับการหน่วยกู้ภัยเรือ (SSU) เปิดเผยกับสำนักข่าววายทีเอ็นว่า การปรับโครงสร้างใหม่ได้เพิ่มน้ำหนักประมาณ 239 ตันบนเรือเซวอล ทำให้จุดศูนย์ถ่วงเรือสูงขึ้น ส่งผลให้การที่เรือจะรักษาสมดุลไว้ได้นั้นเป็นไปได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุต่อไป โดยพิจารณาปัจจัยแวดล้อมหลายประการ
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เรือเซวอลได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือประมาณ 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 16 เม.ย. โดยเรือกู้ภัยและเฮลิคอปเตอร์ต่างเร่งไปที่จุดเกิดเหตุในทันที หลายฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับคำสั่งของผู้บังคับเรือในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ โดยผู้รอดชีวิตหลายรายเปิดเผยว่าได้รับคำสั่งให้อยู่กับที่บนเรือ อย่างไรก็ดี สื่อท้องถิ่นรายงานโดยอ้างคำพูดของลูกเรือว่า มีความพยายามปล่อยเรือชูชีพ 46 ลำ แต่ปล่อยออกไปได้แค่เพียง 2 ลำเท่านั้น นอกจากนี้ นายโอ ยอง ซุค ลูกเรือรายหนึ่งของเรือเซวอลเปิดเผยกับนักข่าวว่า ในตอนแรก ผู้บังคับเรือพยายามทำให้เรือกลับมาสู่จุดสมดุล รวมถึงบอกให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพและอยู่กับที่ นายโอกล่าวว่ามีคำสั่งอพยพผู้โดยสารหลังเกิดเหตุ 30 นาที แต่เป็นไปได้ว่าผู้โดยสารอาจไม่ได้ยินทุกคน ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศได้เปิดเผยแนวทางการช่วยเหลือ 2 แนวทาง คือการปั๊มอากาศเข้าไปในเรือเพื่อเพิ่มช่องอากาศและช่วยให้เรือยังลอยอยู่ และอีกแนวทางหนึ่งคือใช้เครนน้ำหนัก 3,600 ตัน จำนวน 3 ตัว ยกเรือขึ้น สภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคใหญ่ในปฏิบัติการช่วยเหลือ น้ำเย็นจัด ทะเลที่มีคลื่นแรงหลายระลอก และหมอกในบริเวณนั้น สร้างความยากลำบากในการค้นหาผู้โดยสารสำหรับนักประดาน้ำ ในเบื้องต้น หน่วยกู้ภัยได้พยายามปั๊มอากาศเข้าไปในเรือเพื่อให้เรือลอย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ นายชัว มยอง-บอม (Choi Myeong-beom) เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสมุทรศาสตร์และการประมงกล่าวว่า ทางกระทรวงได้นำเครนน้ำหนัก 3,600 ตัน จำนวน 3 ตัว มาช่วยในการค้นหา ซึ่งการใช้เครนยกเรือขึ้นน่าจะทำให้ปฏิบัติการค้นหาดำเนินไปได้ง่ายขึ้น สำหรับความคืบหน้าของปฏิบัติการช่วยเหลือในขณะนี้ นักประดาน้ำได้ค้นหาบริเวณห้องอาหารแล้ว และปฏิบัติการค้นหาอย่างละเอียดในห้องพักผู้โดยสาร บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ของเรือเฟอร์รีที่มีจำนวน 5 ชั้น นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเช้าวานนี้ มีการนำหุ่นยนต์ใต้น้ำมาที่ท่าเรือจินโดเพื่อช่วยในการค้นหาอีกแรงหนึ่ง แม้ความหวังเรื่องการมีผู้รอดชีวิตเพิ่มจะลางเลือน แต่ครอบครัวของผู้โดยสารเรือเซวอลยังคงรอคอยและติดตามปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างมีความหวัง สุดท้ายนี้ คอลัมน์ In Focus ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขอส่งกำลังใจให้ผู้รอดชีวิต ครอบครัว ทีมกู้ภัย และทุกคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยเราหวังว่าผู้โดยสารที่สูญหายจะได้กลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง