อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์การเมืองก็ดี หรือสงครามก็ดี อาจจะจบลงได้ด้วยการเจรจา ตัวอย่างเช่นคู่กัดสะท้านโลกอย่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยอมตกลงหยุดยิงครั้งล่าสุดอีก 72 ชั่วโมง เพื่อเปิดทางให้ประชาชนตาดำๆได้มีโอกาสหนีตายไปอยู่ในที่ๆปลอดภัยกว่า หรือแม้แต่คู่แค้นแดนหมีขาวอย่างรัสเซียและยูเครน ก็ยังยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อกันและกัน แม้ในใจยังคลางแคลงกันอยู่บ้างก็ตาม
แต่มหันตภัยที่เรียกว่า "โรคระบาด" นั้น คงไม่มีมนุษย์คนไหนยอมอาสาไปเจรจาต่อรองด้วย และเมื่อมันเริ่มระบาดแล้ว ก็ไม่ต่างไปจากไฟลามทุ่ง และที่สำคัญคือ มันไม่เคยไว้หน้าใคร และไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อใด
หลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัส "อีโบลา" แย่งซีนข่าวสงครามบนพื้นที่สื่อทุกสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก หลังจากเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดอย่างรุนแรงในแอฟริกาตะวันตก ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 932 คน และเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติ พร้อมเตือนว่าผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากเชื้อไวรัสก่อตัวและกระจายตัวได้รวดเร็ว
ที่น่าวิตกที่สุดก็เห็นจะเป็นประเทศเล็กๆอย่าง กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,200 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 670 คน ซึ่ง WHO ระบุว่าเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดทั้งในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต และขอบเขตของการระบาด โดยเฉพาะไลบีเรียที่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะนอกจากสถานพยาบาลในประเทศพากันทยอยปิดตัวเนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอแล้ว ไลบีเรียเพิ่งจะบอบช้ำจากสงครามกลางเมือง ทำให้บุคคลากรขาดแคลนถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากเจ้าหน้าที่หลายคนติดเชื้ออีโบลาจากการรักษาผู้ป่วย
*รู้จักไวรัสมรณะ "อีโบลา"
อีโบลา ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จัก ไวรัสชนิดนี้ระบาดครั้งแรกในมนุษย์ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1976 ที่เมืองซารา (Nzara) ทางตอนใต้ของซูดาน จากนั้นได้เกิดการระบาดซ้ำในพื้นที่เดิมและระบาดในพื้นที่อื่นทั้งในแอฟริกาและนอกแอฟริกา เช่นการระบาดที่เมืองยากูบุ (Yamkubu) ทางตอนเหนือของซาอีร์หรือสาธารณรัฐคองโกในปัจจุบันในปีเดียวกัน จนในปี ค.ศ.1989-1990 ได้พบการระบาดในลิงพันธุ์ Cynomologous จากฟิลิปปินส์ที่นำเข้าสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการระบาดในไอวอรีโคสต์ทั้งกับลิงและคน ในกาบองและที่ยูกันดา จึงไม่น่าแปลกใจว่า แม้เวลาผ่านไปนานกว่า 38 ปีนับจากวันที่ปรากฏขึ้นครั้งแรก ชาวโลกยังหวาดผวาเชื้อโรคร้ายชนิดนี้อยู่ โดยเฉพาะในเขตแดนทวีปแอฟริกาที่ยังคงเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง
อีโบลาเป็นไวรัสในตระกูล Filoviridae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคระบาดรุนแรงและร้ายแรงที่สุดในทวีปแอฟริกา ที่เรียกกันว่า ไข้เลือดออกอีโบลา ถือเป็นโรคติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน มีอาการเริ่มต้นคือไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดตามกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ที่แย่กว่านั้นคือทำให้เกิดอาการตกเลือดภายในหรือมีอาการเลือดออกง่าย ซึ่งอาจมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 7-14 วันนับจากวันที่ติดเชื้อ ถือเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงระหว่าง 50-90%
ไวรัสอีโบลาที่มีการตรวจพบนั้น มีหลายสายพันธุ์ด้วกัน รวมถึงสายพันธุ์ซูดาน (Sudan ebolavirus) สายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire ebolavirus) สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ (Tai ebolavirus-Ivory Coast ebolavirus) และสายพันธุ์เรสตัน (Reston ebolavirus) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดานและสายพันธุ์ซาอีร์เชื่อกันว่ามาจากลิงพันธุ์เวอร์เวต (Vervet) ที่อาศัยอยู่ในบริเวณตอนกลางของทวีปแอฟริกา และเป็นพาหะสำคัญในการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกา
โธมัส เกส์เบิร์ต นักวิจัยจากกองทัพสหรัฐกล่าวว่า ไวรัสอีโบลาสามารถคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ทันจะไปติดต่อคนอื่นหรือมีอัตราการตายที่สูงถึง 90% นั่นเอง ซึ่งมีเชื้อโรคไม่มากนักในโลกที่มีอัตราการตายสูงระดับนี้
ความน่าสะพรึงกลัวของการแพร่ระบาดของอีโบลาชวนให้นึกถึงภาพยนตร์อันโด่งดังเรื่อง “Outbreak” ผลงานกำกับของวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน ซึ่งนอกจากจะนำเสนอภาพที่น่าสยดสยองของผู้ตกเป็นเหยื่อของไวรัสมรณะเมื่อครั้งเกิดการแพร่ะบาดในสาธารณรัฐคองโกแล้วแล้ว หนังยังแสดงให้เห็นภาพการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและยากเกินจะควบคุม
ข่าวล่าสุดที่ตอกย้ำถึงความน่ากลัวของอีโบลา คือ บาทหลวงมิเกล ปาฆาเรส วัย 75 ปี ที่ติดเชื้ออีโบลาขณะช่วยเหลือผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเซนต์ โจเซฟ ในกรุงมอนโรเวีย เมืองหลวงไลบีเรีย ท่านได้เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลในกรุงมาดริด เมื่อบ่ายวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น เพียง 5 วันหลังนำตัวกลับมารักษาที่ประเทศบ้านเกิด และแม้ว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา บาทหลวงผู้นี้ได้รับยาซีแมพพ์หรือเซรุ่มชนิดเดียวกันกับที่ใช้รักษาแพทย์และมิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งได้ผลดี แต่กลับไม่สามารถช่วยชีวิตบาทหลวงชาวสเปนได้ และกลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เสียชีวิตจากไวรัสมรณะในการระบาดครั้งล่าสุด
ยาซีแมพพ์ได้รับอนุญาตจากองค์การอนามัยโลกให้นำมาใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลาได้อย่างไม่ผิดจริยธรรม โดยยาซีแมพพ์ผลิตโดยบริษัท แมพพ์ ไบฟาร์มาซูติคอล ในเมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ยาซีแมพพ์ยังอยู่ในขั้นแรกของการพัฒนา ผ่านการทดลองเฉพาะกับลิงเท่านั้น บริษัทได้ผลิตยาซีแมพพ์ออกมาไม่มากนัก เพื่อนำไปใช้กับแพทย์และมิชชันนารีอเมริกันที่ติดเชื้อขณะไปช่วยผู้ป่วยในไลบีเรีย และต่อมาได้มีการพากลับมารักษาตัวในสหรัฐ
การเสียชีวิตของบาทหลวงชาวสเปน จึงไม่สามารถการันตีได้ว่ามีหนทางรักษาอาการติดเชื้ออีโบลาได้แล้ว สิ่งที่ปุถุชนคนเดินดินอย่างเราจะทำได้ในเวลานี้ คือรักษาร่างกายให้ปราศจากโรค รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ทำจิตใจให้ผ่องใส และติดตามความเคลื่อนไหวของเชื้อดังกล่าว เพื่อป้องกันตัวจากโรคร้ายชนิดนี้