ตง เซียวผิง ผู้ทำการวิจัยที่สถาบันไวรัสวิทยาภายใต้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของจีน เผยว่า โอกาสที่เชื้อไวรัสอีโบลาจะแพร่เข้ามาในจีนโดยมีค้างคาวกินผลไม้เป็นพาหะนำโรค รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นๆนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ไวรัสอีโบลาก็มีโอกาสที่จะแพร่เข้าสู่จีนโดยมีคนเป็นพาหะได้ในบางกรณีเช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวสามารถควบคุมได้โดยการตรวจตราอย่างเข้มงวดที่ด่านศุลกากร
นายตงกล่าวว่า ไม่น่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในจีนแม้จะมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อบางรายก็ตาม เนื่องจากจีนมีความสามารถในการควบคุม และป้องกันโรคได้ดี
เขากล่าวในการสัมภาษณ์สรุปของคณะกรรมการวางแผนสุขภาพและครอบครัวแห่งชาติจีนว่า "แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่เราสามารถควบคุมครอบครัว ชุมชน และโรงพยาบาลได้ ดังนั้นไวรัสดังกล่าวจึงไม่สามารถแพร่กระจายได้อีก"
นอกจากนี้ นายตงกล่าวว่า ไวรัสอีโบลามีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมงทั้งในผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และจะมีชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้นในน้ำ และที่ที่อุณหภูมิต่ำ หากอยู่ในอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือต้มในน้ำเดือดนาน 5 นาทีจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสอีโบลายังถูกทำลายได้ง่ายโดยสารเคมีฆ่าเชื้อทั่วไป หรือรังสีอัลตราไวโอเลตอีกด้วย
เขายังกล่าวด้วยว่า แหล่งที่อาจแพร่เชื้อได้นั้นมีอยู่ไม่มาก และตรวจสอบได้โดยง่าย นอกจากนี้ กลุ่มยีนจีโนมของไวรัสอีโบลาจะมีความคงที่ จึงสามารถนำมาศึกษา และหาทางรักษาได้